top of page
QICTechFACTcheckLoGoWhite-2021.jpg
รูปภาพนักเขียนK Sripimanwat

(EP4) วิศวกรไฟฟ้าค้นป่าหาคำตอบ - พ.ศ.๒๕๑๙ | Woman in Science & Engineering 2022 | อัศนีย์ ก่อตระกูล

ท้องทุ่งแจ้งวัฒนะอันกว้างใหญ่ ณ พ.ศ.๒๕๑๙ ยังเป็นที่ตั้งของโครงข่ายเสาอากาศวิทยุคลื่นยาวสูงใหญ่หลายต้น อยู่ใกล้กับดอนเมืองแต่ไกลมากจากกลางกรุง ถัดเข้ามาคืออีกหนึ่งทุ่งรอบมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์แหล่งบ่มเพาะปัญญาชนพิกัดพระนครด้านทิศเหนือ ท้ายปีนั้นบรรดาวัยรุ่นสมองสดใสของที่นี่จำนวนมากมายกำลังตัดสินใจกับจุดเลี้ยวชีวิตครั้งใหญ่หลังเหตุการณ์วันฆ่าพิราบขาว ๖​ ตุลาคม หรือวันที่ห่ากระสุนถูกยิงถล่มเข้าไปยังธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ วันที่หลายชีวิตบริสุทธิ์ต้องสูญสลาย วันที่นิสิตนักศึกษาถูกศาลเตี้ยพิพากษาอย่างมากมาย วันที่กลายเป็นประวัติศาสตร์ “ลืมไม่ได้ จําไม่ลง” !

... ไม่มีอำนาจใดในโลกหล้า ผู้ปกครองต่างมาแล้วสาบสูญ

ไม่มีใครล้ำเลิศน่าเทิดทูน ประชาชนสมบูรณ์นิรันดร์ไป

เมื่อยืนหยัดต่อสู้ผู้กดขี่ ประชาชนย่อมมีชีวิตใหม่

เมื่อท้องฟ้าสีทองผ่องอำไพ ประชาชนย่อมเป็นใหญ่ในแผ่นดิน

(วิสา คัญทัพ)

หากมีคำถามว่าตัดสินใจ “เข้าป่ากันไปทำไม ?” คำตอบของ “อาร์ต” ผู้เพิ่งเรียนจบไม่กี่เดือนจากทุ่งบางเขนแห่งนี้ไม่ต่างจากอดีตสหายอื่น ๆ นัก

“ทำไม นักศึกษามือเปล่าโดน” “มันรุนแรงเกินไป” “เราไม่ได้ต่อสู้แบบอื่น คิดไม่ออก” “เข้าป่าเพื่อไปสู้ต่อ ตั้งหลัก” “เราก็ไม่รู้ว่าสู้ต่อคืออะไร” “เรียนสายวิทย์มา ต้องเห็นกับตา” “ภาครัฐกับนักศึกษามีกำแพงกั้น” “เราเรียน ฟังอย่างเดียว ทำไม ทำไม ทำไม ?”


ทั้ง ๆ ที่คำว่าทำไมแบบนั้นควรเป็นคำถามจากผู้หันหน้าเข้าป่าไปยังท่านผู้ใช้อำนาจรัฐฯทั้งหลายมิใช่หรือ ... จากเสียงระเบิดที่กระแทกมาสามปีก่อนหน้าย่านสยามแสควร์เคยกระตุกหญิงสาวผ้าพับไว้ผืนเรียบนี้มาครั้งใหญ่แล้ว ทั้ง “ความรับผิดชอบ” ทั้ง “ความกล้าหาญที่มากขึ้น” เมื่อวนตุลาฯ มาถึงสามรอบใหม่ครานี้ บัณฑิตหมาด ๆ สตรีรุ่นแรกของคณะวิศวกรรมศาสตร์ถูกกระแทกอีกมากครั้งด้วย “คำถาม ความสงสัย” ที่วิ่งอยู่ในหัวผสมกับข้อมูลด้านเดียวข่าวสารไอโอจากผู้มีอำนาจที่ย้อนแย้ง พลันเพื่อนแจ้งว่าอยู่ในรายชื่อไม่พึงประสงค์มาพร้อมกับความน่าฉงนใหม่ที่ว่า “พรรคคอมมิวนิสต์คือใคร ?” “ในเมืองเป็นแบบนี้ ขณะที่ในป่ามีพรรคคอมฯ” คำตอบชัดเจนก็ไม่เคยมี ไม่เคยพบ ไม่มีใครอธิบายให้เข้าใจได้ เส้นประสาทสมองจึงถูกบีบคั้นเหลือคณา การหาคำตอบโดยวิธีออกจากบ้านป่าเมืองเถื่อนไปสู่ชีวิตป่าจริงจึงเป็นคำตอบสุดท้าย

“ทั้งเพื่อนและตัวเราอยากพิสูจน์” “เห็นนักศึกษาโดนทำร้าย”

เมื่อสุดทางของความคิด วัยรุ่นอายุเพียง ๒๒ ปีจึงตัดสินใจมุ่งสู่ “สกลนคร” ประตูป่าอีสานที่นั่นได้อ้าแขนสวมกอดร่วมกับผู้บอบช้ำอื่น ๆ อีกมากหลาย พร้อมปิดท้ายด้วยคำว่า ...


“ขอสักตั้ง !”

ถึงยุคทมิฬมาร จะครองเมืองด้วยควันปืน

ขื่อแปจะพังครืน และกลิ่นเลือดจะคลุ้งคาว

แต่คนย่อมเป็นคน ในสายธารอันเหยียดยาว

คงคู่กับเดือนดาว ผงาดเด่นในดินแดน

(จิตร ภูมิศักดิ์)

๐ “ขบถ” ๐

เส้นทางเดินที่เพิ่งเลือกนี้มีเพียงลูกพี่ลูกน้องรับรู้ แม้มีทางเบี่ยงให้ไปเรียนต่อต่างประเทศ ไปอยู่กับญาติผู้ใหญ่ “ไปอเมริกาไหม อาอยู่ที่นั่น” จึงให้คำตอบคืนไปว่า ...

“ไปอเมริกาก็ห่างพ่อแม่อยู่ดี เข้าป่าก็ห่าง”

หนีความจริงไปเมืองนอกหาใช่หนทางไปสู่ความเข้าใจที่ถ่องแท้ อย่างนั้นเข้าป่าเสียดีกว่า การสนองตอบความรู้สึกบีบคั้นสุด ๆ ของญาติผู้พี่มาหยุดลงที่


“๓,๐๐๐ เงินเดือน ๆ แรกของพี่สาว”

“อาร์ต” จงนำติดตัวไปแทนของขลัง พระเครื่อง คาถาแทนคำร่ำลาใด ๆ ​แม้จะพกเข้าป่าก็ไม่มีร้านค้าหรือตลาดให้จับจ่ายคงไม่เหลือมูลค่า แต่นัยเงินเดือนก้อนแรกของคนจบสายบัญชีที่สูงกว่าสายช่างวิศวกรไฟฟ้ายุคนั้นคือสิ่งมีค่าใกล้ตัวกับเวลาที่เหลือเพียงน้อยนิดโดยไม่รู้ว่าชีวิตนี้จะได้สนทนากันอีกหรือไม่ จึงบ่งถึงคุณค่าทางใจจดจำได้เป็นอย่างดี


คล้าย ๆ กัน “ความกดดัน คับแค้น สงสัยในความยุติธรรม ฯลฯ” เหล่านั้น เกิดขึ้นพร้อมกับอีกหลายบ้านมากตัวอย่าง บางหลังผู้เป็นพ่อเอนตัวนอนตะแคงหันเข้ากำแพงไม่กล้ามองสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น ขอเพียงได้ยินเสียงอีกสักครั้งหลังเอ่ยถามลูกชายที่กำลังย่องออกจากบ้าน ทั้งที่ก็รู้อยู่เต็มอกว่าการ “ออกไปซื้อก๋วยเตี๋ยว” หมายความว่าอย่างไร บางครอบครัวแม่ถึงกับขู่ทำร้ายตนเองหากลูกรักจักก้าวข้ามรั้วประตู เจ้าก็จงนำชีวีของแม่นี้ไปด้วย และอีกหลายบ้านสายสัมพันธ์ทางสายเลือดต้องขาดสะบั้นเพราะอุดมการณ์กับความรักคุยแล้วไม่ลงตัว แต่บ้านนี้ ...

“หนีไปเลย ไม่บอกเขา” ลูกสาวคนโตครอบครัวก่อตระกูลตัดสินใจแบบนี้

“เขาไม่รู้ว่าเราไป เขาอยู่ได้โดยไม่มีเรา ไม่ได้คิดอะไรเลย สองปีถึงรู้ว่าเรายังมีชีวิตอยู่”


อาจารย์อัศนีย์ย้อนความหลังกว่าสี่ทศวรรษกับเรื่องที่ไม่ค่อยได้เล่าให้ใครฟัง เล่าแบบทั้งเข้าเกียร์เดินหน้าสลับกับหยุดนิ่ง เว้นวรรคขาดตอนหลายครั้งโดยขอไปถามเหล่าสหายที่เคยร่วมทับกลับมากก่อน การสนทนาจึงต้องปะติดปะต่อจากหลายยก ทั้งนั่งคุย แชท โทรศัพท์ ฯ จนชักไม่แน่ใจแล้วว่าการพูดเรื่องเก่านี้ไปกระตุกต่อมโศกหรือเส้นประสาทแห่งทุกข์ให้กลับมาหลอกหลอนอยู่หรือเปล่าหนอ หากมีประเด็นเจ็บปวดใดจะได้ละเสีย อีกทั้งเกรงว่าหากสลักอารมณ์ที่ค้างมากว่าสี่สิบปีถูกสะกิดจนระเบิด “ตูม” ครั้งใหม่ ผ้าพับไว้อาจกลายเป็นอัศนีย์สายฟ้าฟาดแทน การสัมภาษณ์คงไหม้เกรียมแน่ ...


ดังนั้น คำถามต่อจากนี้จึงควรยกออกมาถามก่อนโดยทั้งซ้อมกระทั่งกลืนทิ้งไปหลายครั้ง เพราะปุจฉาหนัก ๆ นี้มาจากความสงสัยทุนเดิมที่ไม่เข้าใจว่า เหตุใดปัญญาชนนับพันหมื่นทั้งผู้ที่ “ออกไปซื้อก๋วยเตี๋ยว” คนที่ทะเลาะกับครอบครัว หรือแม้จะกลุ่มที่ตัดสินใจ “หนี” เข้าป่าครั้งนั้น เมื่อยังมีลมหายใจกลับออกมาได้ผ่านมาถึงวัยชรายุค 5G ไอโฟน 14 นี้กันแล้ว กลับพบเห็นโดยทั่วไปว่า อุดมการณ์ที่เคยมี “เหมือนกัน” แตกกระจายเป็นหลายกลุ่มที่ “ต่างกัน” ยิ่งนัก

(คำถาม) - - ปัจจุบันเห็นว่าคนเดือนตุลาฯ แบ่งเป็นหลายกลุ่มหลายชั้นหลายภาพ ทั้ง ๑) “อุดมการณ์มั่นคง” สู้ต่อเพื่อความเท่าเทียมของสังคม ๒) “แฮงก์” ไม่เอาอีกเลยหลีกลี้หนีโลก ๓) “เจ็บแค้น” แสวงหาโอกาสเอาคืน ๔) “เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา” ยังคงสับสน หรือไม่ก็ ๕) “กลับข้าง” รับใช้เผด็จการด้านที่เคยต่อสู้มาหน้าตาเฉย !

“แล้วอาจารย์อัศนีย์อายุใกล้เลขเจ็ดแล้วเป็นแบบไหน ?”

“ไม่เป็นแบบไหนเลย”

“ห๊าาาาา อ้าววว !” คิดผิดระแวงไปเองหรือนี่ ยังคงเป็นผ้าที่พับไว้อย่างเรียบสนิทเหมือนเดิมอย่างนั้นหรือ

“เราไม่คาดหวัง เราก็ไม่ผิดหวัง”


“อืมมม ... (อะไรกันนั่น)” เข้าป่าตั้งห้าปีกลับออกมาไม่เหมือนใครเขาเลย

แค่เริ่มเปิดประตูป่าก็น่าค้นหายิ่ง เหตุใดพงพนาถึงทำให้อดีตวิศวกรสาวกลายเป็นอีกคนใหม่และต่างมากมายจากสหายอื่นที่สำรวจมา

๐ โรงเรียนสีเขียว ๐

ภาพคู่ขนานด้านเทคโนโลยีช่วงเวลาเดียวกันกับปรากฏการณ์เข้าป่านั้น ระบบการสื่อสารหลักของผู้คนในสังคมยังอยู่ที่จดหมายและโทรเลข ส่วนโทรศัพท์บ้านกระจุกอยู่ในเขตเมืองใหญ่และมีจำนวนคู่สายน้อยเหลือเกิน การรับรู้ข่าวสารของสังคมมาจากหนังสือพิมพ์ วิทยุ และทีวี ความบันเทิงผ่านสื่อสมัยนั้นเกาะมากับละครพื้นบ้านยังโลดแล่นส่วนใหญ่บนจอขาวดำหนาหนัก รวมทั้งจอเงินหนังกลางแปลง มีทั้ง ‘ขุนแผน’ ‘ปลาบู่ทอง’ ‘ดาวพระศุกร์’ ส่วนความสุขที่ผ่านมากับเสียงวิทยุใช้ถ่านไฟฉายมีทั้งเพลงและละครพูด แต่มักถูกคั่นด้วยการถ่ายทอดข่าว รายการปลุกใจให้รักชาติ ฯลฯ ต้นทางก็คุ้นเคยทั้งสถานีวิทยุกระจายเสียงศูนย์การทหารปืนใหญ่ สถานีวิทยุยานเกราะออกอากาศคำปราศรัย ฯ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยกับเรื่องการบ้านการเมืองการปกครอง หรืออีกสารพัดรายการและสถานีที่เหล่านิสิตนักศึกษาเปรียบว่าเป็น “เต่าล้านปี” แต่ก็แพร่กระจายเสียงทุกวันตลอดปี พอ ๆ กันกับข่าวจากทีวีสมัยที่หมุนหาคลื่นได้แค่สี่ช่องแต่เป็นของทหารไปซะสองแล้ว และยามใดเกิดการแย่งอำนาจกัน ทุกคลื่นวิทยุและทีวีจะถูกยึดไปออกอากาศตามใจผู้ถืออาวุธเรื่องเดียวกันหมด แถมเวียนซ้ำด้วยคำว่า “โปรดฟังอีกครั้งหนึ่ง” แบบที่ไม่เคยจำกัดจำนวนครั้งเลย

กระนั้น ประวัติศาสตร์ของชาติไทยยังเคยโชคดีที่ครั้งหนึ่งผู้ดูแลทีวีช่อง ๙ และวิทยุในเครือข่ายไม่ยอมหยุดการรายงานข่าวฆ่าหมู่ของวันที่ ๖ ตุลาฯ ตัดสินใจเผยความโหดอำมหิตออกไปให้โลกรับรู้แม้เพียงแค่ช่วงหนึ่งสั้น ๆ แต่นั่นได้ทำให้ตนเองถูกปลด รวมทั้งถูกสอบสวนว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ถูกดำเนินคดีและถูกอายัดทรัพย์ทั้งครอบครัว ฯลฯ ยุคทมิฬมารที่การ “คุม ยัน ปิด กั้น และปั่นทุกสื่อ” แบบเต่าโบราณที่กระทำซ้ำ ๆ ซ้ำ ๆ เยี่ยงนั้น ยิ่งเป็นการเติมเชื้อไฟเร่งเร้าให้หนุ่มสาวทั่วประเทศออกค้นหาความจริงด้วยตนเอง ถึงแม้จะต้องแรกมาด้วยชีวิต

สลับภาพกลับไปที่ป่าเหนือ ใต้ อีสาน ตะวันออก ฯ หลังเหตุการณ์สังหารหมู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ๖ ตุลาฯ หนุ่มสาวปัญญาชนคนร่วมอุดมการณ์เดียวกันจำนวนมากหันหลังให้กับการต่อสู้ในเมืองทยอยเดินทางสู่การจับอาวุธอยู่ในป่า และ ณ ประตูสู่ภูพาน “อาร์ต” จากสมัยเรียนที่เคยมีชื่อรหัสเรียกขานรุ่นวิศวฯเกษตรฯว่า “E 28” เมื่อย่างก้าวเข้าป่ามามีรหัสเรียกขานเฉพาะตนกันแล้วว่า “สหายตะวัน”

บัดนี้ สหายใหม่เริ่มต้นเส้นทางชีวิตใหม่ไปกับทุกสหายอื่นแบบเท่าเทียมไม่มีชนชั้นวรรณะแล้วที่นี่ ต่อจากนี้ตัวตนวิศวกรไฟฟ้ารุ่น E 28 สลายเหลือแต่ผู้ดั้นด้นค้นหาความหมายที่ยังค้างใจ จากวัยรุ่นกับชุดนักเรียนที่ไม่เคยมีชุดเที่ยว ผ่านชุดนักศึกษาพับเพียบเรียบร้อยมาถึงชุดทำงานที่เพิ่งใส่ได้ไม่กี่เดือนของการไฟฟ้าเพื่อชนบท พลันต้องทิ้งหมดเพื่อสวมชุดเขียวสีเดียวกัน และพร้อมด้วยหมวกดาวแดงบนหัว ส่วนที่ลำตัวข้างเอวคาดกระติกน้ำและ “K54” ปืนพกสั้นประสิทธิภาพสูงกำเนิดจากโซเวียตรัสเซียผลิตที่จีนแดง ... พร้อม !


จากผ้าพับเรียบเนียนโรงเรียนสตรี จากติวเตอร์พี่สอนน้องและผองเพื่อน

จากกรุงสว่างมืดมิดมาหาดาวเดือน จากบ้านป่าแลเมืองเถื่อนสู่พงไพร ...

บ้านหลังนี้ที่เพื่อนมิตรมือเปล่าโดน บ้านที่โยนยุติธรรมให้สูญหาย

บ้านนี้ไฉนกระทำกันรุนแรงไป บ้านที่ผู้ใหญ่ใส่ร้ายไม่เคยเรียน

มือเคยจับไดนาโมปั่นไฟฟ้า มือที่เคยจับปากการู้ขีดเขียน

มือนั้นทิ้งทุกอย่างเคยพากเพียร มืออ่อนเนียนนี่แหละหนา ข้าฯ จับปืน !

เปล่าหนาเปล่ามีใจทำลายล้าง เปล่าหนาเปล่าตั้งตนสวนโลกฝืน

เปล่ารุนแรงเปล่าเหนี่ยวไกสวนกลับคืน เพียงรู้ตื่นต้องพร้อมป้องกันตน

“จากบ้านมือเปล่า” (ศรีพิม ๒๕๖๕)


ทว่า ใครจะหยั่งรู้ว่าปืนประจำตัวกระบอกนี้จะได้ใช้สร้างวีรกรรมจนเป็นที่จดจำกันทั้งป่ากับการมี “เหยื่อ” ถึงสองครั้งสองครา !


ตั้งแต่เหตุการณ์เสียงปืนแตกครั้งแรกที่จังหวัดนครพนมเมื่อ ๗ สิงหาคม ๒๕๐๘ ต่อมาเกือบทศวรรษป่าอีสานมีคนไทยติดอาวุธมากขึ้นอีกขบวนใหญ่แต่กลับข้างหันคมวิถีเข้าหากันเองเพราะอุดมการณ์ที่แตกต่างจากรัฐฯ หนึ่งในจำนวนนั้นก็คือ “สหายตะวัน”

ชีวิตกลางป่าเต็มรูปแบบเริ่มต้นกับการอาสาไปอยู่ “ทับหมอ” ดูแลคนป่วยคนไข้และทำหน้าที่สอนภาษาอังกฤษให้ทั้งลูกหลานชาวนา ชาวบ้าน และสหายร่วมอุดมการณ์ เพราะความรู้ด้านไฟฟ้าที่ติดตัวมาไม่สามารถช่วยงานอะไรในป่าได้ยามต้องอยู่กับ “นำ้มันหมู เศษผ้า และตะเกียง” แต่แล้ว ยังไม่ทันได้ใช้อาวุธเพื่อป้องกันตนกลับต้องเฉียดภัยเส้นยาแดงแห่งชีวิตเสียหลายครั้ง เริ่มตั้งแต่ปีแรกบนผืนป่าแรกกันเลย สหายตะวันสังกัดทับหมอกลายเป็นคนไข้หนักเสียเอง

๐ ผ่าตัดไส้ติ่ง ๐

แม้หนุ่มสาวที่พากันเข้าป่าไปมีทั้งหมอและนักศึกษาแพทย์ทิ้งเสื้อกราวด์ร่วมอยู่ด้วย แต่งานนี้ลงมีดด้วยพี่ใหญ่แพทย์จากจีนแดง แม้ไม่ใช่คนแรกแน่ที่ต้องขึ้นเขียงผ่าตัดบรรยากาศสุดธรรมชาติ แล้วก็ไม่ใช่คนแรกที่ต้องให้หมอตัดไส้ต่ิงทิ้งแบบไม่ใช้ชาสลบ เพราะเป็นอีกหนึ่งคนไข้ที่รู้สึกตัวตลอดการผ่าตัดกับการใช้เพียงแค่ยาชา !

“ห๊าาาา ผ่าตัดลงไปถึงลำไส้แต่ยังรู้สึกตัวอยู่ ... โอวววว !”

สหายผู้มาใหม่กลายมาเป็นคนไข้บนเตียงแคร่ไผ่มีเพียงผ้าใบผ้ายางบังตา หมอจีน ยาชาก็มาจากจีน เวชภัณฑ์กลางป่ากับสารพัดข้าวของผ่านฝั่งประเทศลาว ลำเลียงเข้ามาเป็นครั้งคราวจึงขนมาชุดใหญ่สต๊อกใส่ถ้ำเผื่อใช้นาน จึงกลายเป็นสมมติฐานที่ว่า

“ยาชาคงเสื่อมสภาพ”

“อุ๊ !” ... หลังจากขอให้จินตภาพประกอบการเล่าเรื่องใหม่อีกครั้ง จึงได้เพิ่มว่า


“มีอีกสหายนั่งเป็นกำลังใจอยู่ข้าง ๆ แล้วเราก็บีบมือเขา”

ราวกับเป็นการถ่ายแรงทางวิศวกรรมความเจ็บปวดทั้งหมดไปยังสหายข้างเตียง บีบสนองกระทำไปตามภาวะแรงเจ็บของวงจรกระแสปวดเริ่มต้น ตั้งแต่หมอเจาะท้องเข้าไปตัดไส้ติ่งแล้วนำออกจนกระทั่งปิดแผล !

“โคร _ เจ็บเลยยยย !”

ภาษาพูดแปลกหูที่สุดของสตรีผู้เรียบร้อยตั้งแต่วัยเด็ก บ่งบอกภาวะอาการการเสี่ยงตายครั้งแรกแต่ก็ผ่านไปได้แบบที่นึกภาพตามแล้ว “โค-ตะ-ระ เหลือเชื่อ” อึ้ง ตะลึง งง อยู่นาน จึงลืมถามอาจารย์กลับไปว่า “แล้วหมอป่าต้องผ่าตัดมือและนิ้วให้กับสหายข้างกายผู้นั้นต่อเลยไหม ?”

ยังไม่หมดแค่นั้น เส้นทางข้างหน้าทั่วผืนป่าภยันตรายรายล้อมรอยู่ และยังโหดแบบที่ไส้ติ่งกับยา(ไม่)ชานั้นกลายเป็นเรื่องปะติ๋วไปเลย

“ป่าทำให้เราแกร่งขึ้น มีวินัย มีความรับผิดชอบกับคนอื่น นอกจากตนเองอย่างเดียว”


สหายตะวันทยอยซึมซับความจริงที่ได้สัมผัสเพิ่มมากขึ้น ส่วนการจับปืนอยู่ป่านั้นก็คือสิ่งที่เรียกว่า “เป็นวินัย ที่ต้องช่วยตนเอง มีอาวุธติดตัว” “เป็นทหารของประชาชน เพื่อให้ได้รับความยุติธรรม” แต่กว่าจะไปถึงซึ่งเป้าหมายอุดมการณ์เหล่านั้นยังต้องสู้ภัยอีกสารพัดด่านรวมทั้ง “ต่อสู้กับความคิดของตนเอง ต่อสู้เพื่อที่จะเปลี่ยนแปลงตนเอง สิ่งที่เราไม่เคยทำก็ต้องทำ คือการเสียสละเพื่อคนอื่นก่อนที่จะคิดถึงตนเอง แล้วต้องสะท้อนออกมาเป็นการกระทำด้วย”


วิถีป่าที่ทั้งเสี่ยงกับการสู้รบกับภาครัฐที่มากับอาวุธหนักทางอากาศและภาคพื้นดิน สู้กับความโหดร้ายของไข้ป่า สิงสาราสัตว์และอื่น ๆ แล้ว หลายสหายเคยเล่าทั่วไปว่ายังต้องสู้กับความเหงาที่ทำร้ายทั้งร่างกายและจิตใจตนเองอย่างหนัก ถึงขนาดต้องเยียวยาด้วยการนั่งนับใบไม้ในป่าที่กำลังร่วงหล่น แต่ดูเหมือนเรื่องความเหงาแบบนั้นมิใช่ปัญหาสำหรับสหายตะวันนัก เพราะทุกอย่างข้างหน้ากลายเป็นชั้นเรียนใหม่และใหญ่มากให้สมาธิได้จดจ่อ อดีตหนอนหนังสือจากเมืองหลวงกำลังเติบใหญ่ปรับวิถีเรียนรู้การอยู่ป่าพัฒนาตนจนคล้ายเป็นผีเสื้อขยับปีก แล้วกระพือท่องไปในหอสมุดแห่งธรรมชาติที่มีทั้งลำธาร ป่า ภูเขา ท้องฟ้า รวมถึงดวงดาวเป็นบรรณารักษ์


“เรียน แสดงออกทำเพื่อสังคม หาคำตอบไปเรื่อย ๆ” สัญญาณการปรับตัวได้ทยอยปรากฏขึ้น

เหล่าปัญญาชนจำนวนมากผู้ถูกผลักไสจากมหาวิทยาลัยวิชาการวิชาชีพในเมืองหลากหลายสาขา ทั้งสังคม ฯ มนุษย์ศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เภสัชศาสตร์ และอีกสารพัดศาสตร์ ฯลฯ เมื่อเข้ามาร่วมทางกันแล้ว ได้รวมสาขาศึกษาศาสตร์แนว “ลัทธิมาร์กซ์” เอย หรือทำความเข้าใจเรื่อง “ประธานเหมา” เอย เหมือน ๆ กันด้วย


“แต่เอ๊ะ ...”


คิดเล่น ๆ ผ่อนคลายการพูดคุยด้วยคำถามที่ว่า นอกจากในเมืองแล้วอย่างไรในป่าก็คือสังคมที่ผู้ชายเป็นผู้นำ แม้ทุกสหายจะเท่าเทียมแต่หาได้มีตัวอย่างจ้าวลัทธิที่เป็นผู้หญิงให้ศึกษา ที่ไหนอย่างไรผู้ชายก็เป็นใหญ่ วลีนี้จึงตามมา


“เราก็เป็นใหญ่ในตัวของเราเอง” นั่น !

และก่อนตามเก็บจดหมายเหตุรวมถึงวีรกรรมเข้มข้นกลางป่าที่กำลังไหลมาเทมา มีคำถามที่รีบแทรกกับสหายตะวันผู้กำลังท่องป่าด้วยความเบิกบานให้หายระแวงอีกเรื่องก่อนว่า วัยรุ่นอุปนิสัยเรียบร้อยมากจนถึงมากที่สุดคนหนึ่งบนปฐพีแล้วหนีครอบครัวที่แสนอบอุ่นไปอยู่ป่าโหด ๆ แบบนั้น

“ไม่คิดถึงบ้านคิดถึงพ่อแม่บ้างหรือ ... ?”


คำตอบแรกมาพร้อมเปลี่ยนสีหน้าและเสียงเป็นโทนนุ่มเบาว่า


“ความรู้สึกถูกละลาย” ความยากลำบากมีอยู่มากมายราวกับว่าเวลาให้คิดถึงจึงมีน้อย แต่ แต่ แต่แล้ว ...


“วันไหนคิดถึงพ่อแม่วิ่งขึ้นภูเขา ร้องไห้ ๆ จบ ปิดสวิทต์” “หรือเดินไปหาชาวเขา รักเขาแบบพ่อแม่”


นั่นอย่างไรเล่า มาแล้ว ...

ช่วงชีวิตวัยรุ่นที่ไม่ได้ใช้ไปกับการถักนิตติ้งหรือเดินช็อปปิงตลาดนัดแต่กลับพาตนเองเข้าป่า ไม่ต้องมีใครมาขู่ก็รู้ได้ว่าเสี่ยงภัยแค่ไหนแล้วอยู่กันได้อย่างไร ? กระนั้น ทุกคำตอบที่ได้มาอุ่นใจเสมอ สหายตะวันปรับตัวได้เป็นอย่างดี อย่างนั้นขอสลับเรียงด้วยเนื้อหาอื่นเผื่อให้คนรุ่นใหม่นำไปปรับใช้สักเรื่องใหญ่ก่อนว่า ...

การคุกคามทางเพศละ จะด้วยวาจาหรืออื่น ๆ ตั้งแต่สมัยเรียนจนถึงทำงานและทุกช่วงชีวิต ทั้งเพื่อนสนิทหรือตนเองเคยถูกคุกคามทางเพศหรือไม่ ไม่ว่าจะชายหรือหญิงด้วยกันเอง ?


“โชคดี เรียนวิศวะ ไม่มีปัญหานี้นะคะ”

“อืมมม ...” แล้วหากสลับกลับไปที่กลางป่าบ้าง สถานที่ที่ดูเหมือนว่าจะเสี่ยงต่อผู้หญิงตัวเล็ก ๆ คนนี้ท่ามกลางเหล่าสหายต่างเพศคละวัยแบบนั้น เป็นอยู่กันอย่างไร ?


คำตอบก็ยังคงสบายใจได้อีกเพราะทุกสหายให้เกียรติกัน ไม่มีปรากฏเรื่องเล่าถึงการคุกคามใด แถมเพิ่มประโยคที่น่าจะเป็นมาตรฐานป่ามาให้ด้วยว่า


“ใครยังไม่มีแฟนก็อย่าเพิ่งมี ส่วนใครมีแล้วก็อย่าเพิ่งแต่งงานกัน”

ในป่าเขามิได้มีข้อห้ามซึ่ง “ความรัก” มิได้ประสบกับเรื่องปัญหาหญิงชาย ความระแวงว่าสภาพแวดล้อมที่น่าจะโหดร้ายหายไปหมดแล้ว ป่ากลายเป็นมหาวิทยาลัยแห่งใหม่ที่เต็มไปด้วยความรักความผูกพัน ยิ่งประสบกับเหตุการณ์เลวร้ายปานใดภายภาคหน้าก็ยิ่งดูเหมือนว่าความรักในไมตรีจิตของเหล่าสหายยิ่งเพิ่มพูนขึ้นไปอีก ไม่เคยขาดแคลนซึ่งความรักเลย


ถึงแม้ว่าความรู้สึกดี ๆ ในครอบครัวก่อตระกูลที่เคยมีและเด่นชัด เช่นความรักที่เกาะผ่านมากับ “รองเท้าที่เงาวับ” และ “ปกหนังสือที่เรียบกริบ” จำต้องขาดช่วงไปแล้ว แต่ก็ได้จากชาวเขาที่รักเหล่านักศึกษาเหมือนลูกเหมือนหลานมาทดแทน และเขาเหล่านั้นด้วยนั่นเองทำให้สหายตะวันได้รู้ซึ้งกับคำว่า “ชนชั้น”

ยามที่ไปเยี่ยมพ่อแม่สมมติบนเขาคราวใด “เขาให้สิ่งดีที่สุดของเขา เขาไม่กิน จับปลาได้ก็ให้เราก่อน” หรือหน้าหนาวที่โหดร้ายกองฟืนสุมไฟให้ความอุ่นบนเรือน “เขาก็ให้ที่นอนที่อุ่นที่สุดกับเรา” สรุปความรักแบบนั้นไว้ว่า ... “ไม่มีชนชั้น !”


แล้วจึงตามมาด้วยประโยคที่บรรเทาการคิดถึงบ้านในเมืองหลวงไปได้อีกครั้งใหญ่

“ถ้าเรายังไม่สามารถปลดปล่อยชนชั้นได้ เราจะไม่กลับบ้าน”

-- (จบภาค ๔)

 

Woman in Science & Engineering - The Series 2022

“เรียนรู้ประวัติศาสตร์ เพื่ออนาคตที่ผิดพลาดน้อยลง”


ร่วมสนับสนุนกิจกรรมถ่ายทอดประสบการณ์สาธารณะ รวมทั้งข้อคิดเห็น คำแนะนำ ฯ ได้ที่

Email: thailand_chapter@comsoc.org

 

Comentarios


FEATURED POSTS

FOLLOW US

  • Facebook Long Shadow

 

DROP US A LINE 

Your details were sent successfully!

  • Facebook page
bottom of page