top of page
QICTechFACTcheckLoGoWhite-2021.jpg
รูปภาพนักเขียนK Sripimanwat

(EP2) อดีตนักเรียนที่ครูสอนไม่ได้ | Woman in Science & Engineering 2022 | อัศนีย์ ก่อตระกูล |

ส่วนใหญ่คงไม่ได้รับรู้กันมาก่อนว่าตัวตนของวิศวกรสตรีแกร่ง “พิราบแดงแห่งดงตาล” บัณฑิตหญิงรุ่นแรกของคณะวิศวกรรมศาสตร์รั้วบางเขนพร้อมด้วยเกียรตินิยมคนนี้ เคยสอบตกเมื่อครั้งสมัยยังเป็นนักเรียน !

“ชีวิตทรหดมาโดยตลอด หัวโขนไม่มี”

คืออีกหนึ่งประโยคเมื่อถูกขอให้นิยามชีวิตที่ผ่านมาจนถึงวันที่เลยวัยเกษียณอายุราชการแล้ว


การทยอยเท้าความทรหดเหล่านั้นเริ่มการสนทนากันด้วยการย้อนไปเมื่อครั้งยังเป็น ดญ.อัศนีย์ เอ่ยเรื่องราวแรกจากบ้านที่หัวหน้าครอบครัวแทบไม่มีเวลาให้กับลูก ๆ เลย เพราะว่าเลิกงานกลับมาก็หลับกันหมดแล้ว เมื่อ ‘พ่อ’ ทำงานหนักจึงมีเวลาพบหน้าเจอกันได้ไม่นานในแต่ละวัน กระนั้น รอยยิ้มพุ่งมาทันทีพร้อมกับเล่าต่อว่า “แม้จะไม่มีเวลาให้ แต่ลูก ๆ ก็ไม่เสียผู้เสียคน” เพราะทุกวันที่ตื่นขึ้นมาได้พบกับ “ความรักจากพ่อ” ปรากฏอยู่ทั่วบ้าน เล่าไปยิ้มไปราวกับมีรังสีสะท้อนออกมากับวัตถุตัวนำความรักที่เอ่ยถึง ทั้ง “รองเท้านักเรียนที่เงาวับ” “หนังสือห่อปกกระดาษสีน้ำตาลทุกเล่ม” ฯลฯ ... ใช่แล้ว ‘พ่อ’ ชดเชยเวลาที่หายไปด้วยการถ่ายความอาทรป้อนมากับสิ่งรอบตัว จนเก็บเป็นความทรงจำนำมาเล่าในวันที่เลยวัยนั้นมานานถึงหกทศวรรษให้หลัง แต่ยังคงสะท้อนเรื่องราวได้เงาวับ รอยพับกระดาษก็ยังเรียบกริบ ... “ความรักของพ่อ” ปะติดปะต่อออกมากับรอยยิ้มตลอดเวลา

... คล้ายดั่งคำเปรยโบราณในหมวดความรักความห่วงใยที่ว่า “คนเป็นพ่อแม่ไม่มีอะไรเสียใจไปกว่าลูกที่เติบโตมาเกเรหรือกลายเป็นคนไม่ดีของสังคม” ซึ่งการที่ “ครูไม่เอาด้วย” ถึงกับเขียนจดหมายขอให้ผู้ปกครองมาพากลับว่า ...

“เด็กนักเรียนคนนี้ ขอให้คุณพ่อรับไปช่วยสอนเองด้วย”

ไม่อาจปฏิเสธว่าเทียบเคียงความทุกข์ใจอยู่ในระดับเดียวกัน สิ่งนั้นได้มาถึงหัวหน้าครอบครัว “ก่อตระกูล” เข้าแล้ว


กระดาษบาง ๆ แผ่นเบา ๆ นั้นคงหนักอึ้งยิ่งนักในความรู้สึกของผู้เป็นพ่อต่อนักเรียนที่อายุเพียงแค่ ๗ ขวบ แม้ว่าการสอบไม่ผ่านหรือสอนไม่ได้ของคุณครูนั้นมิใช่มาจากความประพฤติที่ไม่เข้าร่องเข้ารอยแต่อย่างใดเลย หากเป็นช่วงเวลาการปรับตัวที่ย้ายจากโรงเรียนเน้นการสอนด้วยภาษาจีนมาโรงเรียนใหม่ที่มีแนวทางต่างภาษา ทำให้เด็กหญิงคนโตของบ้านปรับตัวไม่ทัน คุณครูก็พลันมาถอดใจไปเสียอีก

บททดสอบชีวิตของนักเรียนคนที่ “ครูสอนไม่ได้” คนที่ “ครูขอให้ย้ายโรงเรียน” จึงมาถึง จับความจากคำพูดและแววตารับรู้ลึก ๆ ได้ว่า เป็นวิกฤตที่ได้รับการจัดการจากผู้นำครอบครัวแบบระยะยาวอย่างอดทนยิ่ง นาน นานหลายปี

“เมื่อยังไม่เก่ง ก็ต้องเรียนรู้ให้มากขึ้นหนักขึ้นกว่าใคร ๆ เขา” และหนักถึงระดับขั้น “อ่านสิบรอบ !”

มาแล้ว เกร็ดชีวิตแรกแบ่งปันออกมาแล้ว ตัวอย่างสั้น ๆ ไม่กี่คำแต่เปี่ยมความหมายรวบที่เอาทั้งความพยายาม ความอุตสาหะ มานะ บากบั่นและอีกสารพัน ทั้งหมดสามารถจบได้อยู่ในประโยคเดียวนั้น ใครก็ตามที่มีโอกาสได้ฟังครั้งแรกคงหนีไม่พ้นที่ต้องทวนเป็นคำอุทานพร้อมอาการตาโตว่า

“หาาาา ... สิบรอบ !”

และดูเหมือนว่าจะเป็นแทคติคการแก้ไขอุปสรรคภายภาคหน้าติดตัวมากับการทำงาน ติดตามมากับการทำกิจกรรมเพื่อสังคมในภายหลังมากครั้งด้วย เมื่อใดที่พบกับความยากลำบาก “คติพจน์” มากมายหลากหลายต้นแบบที่พ่อสอนไว้จะถูกนำออกมาใช้ เพราะในอดีตก็เคยได้ผลเป็นเลิศ !

ครั้นเมื่อ ‘ดญ.อัศนีย์ ก่อตระกูล’ สอบเข้าเรียนระดับมัธยม มศ.๑ โรงเรียนสตรีดังแห่งฝั่งนครหลวงได้ สิ่งที่พ่ออดทนบ่มเพาะให้ลูกสาวพร้อมกับความรู้สึกที่ไม่ต้องอธิบายด้วยคำพูด แบบที่กรีดพับอยู่บนปกหนังสือกับที่ขัดจนเงาวับบนรองเท้านักเรียนมายาวนานแบบนั้น มาถึงเวลาที่ยิ้มกันได้แล้ว

“หนูทำสำเร็จแล้ว !”

จดหมายฉบับน้อยแต่หนักกดทับความรู้สึกมาเจ็ดปีฉบับนั้นยังเก็บไว้เป็นแรงผลักดัน เก็บมาจนถึงปลายทางของชั้นประถมหรือ ป.๗ กันเลยทีเดียว

“พ่อบอกว่าให้ไปแจ้งคุณครูด้วยนะว่าทำได้แล้ว” ...​

จึงผ่านด่านชีวิตแรกที่จำความได้ นำมาเล่าไปยิ้มไป


ยัง ยัง ... ยังไม่ถึงด่านใหญ่หรือจุดเปลี่ยนที่จะทำท่วงทำนองชีวิตพลิกผันครั้งใหญ่ อีกสักพักจะไปต่อ ปิดท้ายช่วงวัยนักเรียนเสื้อขาวกระโปรงกรมท่ากับคำถามทะลุทะลวงใจสมัยวัยรุ่นกันก่อน อาจยังมีวีรกรรมของนักเรียนหญิง “ผ้าพับไว้” อยู่ด้านหลังที่ยังนึกไม่ออก จากมัธยมต้นจนถึง มศ.๕ ณ สตรีวิทย์เรื่องราวชีวิตดูเหมือนเรียบง่าย เรียบ เรียบ เรียบจังเลย ดังนั้น คำถามตามหาวีรกรรมฉีกแนวแบบนี้จึงต้องมา

“ชีวิตสมัยวัยรุ่นอยากมีกิจกรรม ทำนี่ ไปโน่น เล่นนั่น กวดวิชา พากันหนีเรียน เขียนชื่อครูที่ไม่ชอบบนผนังประตูห้องน้ำ ฯลฯ อะไร อย่างไร บ้างไหม นอกเสียจากการอ่านหนังสือ ?”

ได้คำตอบกลับมาให้อึ้งไปครึ่งวินาทีว่า

“เป็นคำถามที่ไม่มีในชีวิต”

“(อ้าว !)” … คำถามอาจยาวไป อย่างนั้นลองใหม่สไตล์วัยรุ่นสมัย 60 - 70s ตามถนนหลังกระทรวง คลองหลอด เทเวศน์ บางโพ บุคคโล บางปิ้งดูบ้าง ยุคโก๋หลังห้างดังเต้นขาพับไปพับมาแบบ ‘เอลวิส เพรสลีย์’ แบบนั้น ... สูดลมหายใจลึก ๆ รวมความกล้าแล้วจึงลองด้วยขุดคำถามสั้นนี้

“สมัยเป็นนักเรียน เคยนัดตบตี กันบ้างไหม ?” ... จึงได้คำตอบที่คัดสรรมาให้ ชุดใหญ่ !

“ไม่ทะเลาะกับใคร” “เรื่องตื่นเต้นแทบไม่มี” “ไม่มีชุดเที่ยว” “แวดวงเรามีแต่เด็กเรียบร้อย” “ไม่หนีเที่ยว ไม่หนีโรงเรียน” “ทำไมสังคมปัจจุบันถึงต่างจากเดิม” “ฟังทุกเช้าคุณครูใหญ่อบรม” “ศุกร์บ่ายก็มีอบรม” “อยู่ในวัฒธรรมสังคมแบบไหนก็คล้อยตามนั้น” “ปิดเทอมคือปิดเทอม ไม่มีกวดวิชา” ...

Surrender” !

เพลงนี้ของเอลวิสจึงลอยมาก้องในหูปิดท้ายวัยนักเรียนโดยสมบูรณ์ ตามด้วยเพลงที่ช้าลง Love me tender และช้าลง Crying in the Chapel ... เป็นอันว่า ไม่มีคำถามใดของวัยเรียนเพิ่มอีกแล้ว “ผ้าพับไว้” ก็คือ “ผ้าพับไว้” จะให้มีวิถีแนวร็อคเพลงเร็วกระโดดโลดเต้นคงมิได้


สรุปว่าต้นแบบ Woman in Science & Engineering ผู้นี้มีวัยนักเรียนที่แสนเรียบง่าย ซึ่งก็คงเรียบเหมือนกับกระดาษที่ผู้เป็นพ่อห่อปกหนังสือไว้ให้นั่นแล ระหว่างการสนทนายังนำพาคำถามย้อนความเรียบนั้นอีกหลายครั้งให้ด้วยว่า

“ไม่ตื่นเต้นเลยใช่ไหม ?” “ไม่มีอะไรน่าสนใจ ?” “ผิดหวังคนถามเลยใช่ไหมนี่ ?”

เสียงของ ‘เอลวิส’ ในหูจึงทยอยดับหมดไป ปล่อยให้เพลงมาร์ชแดงขาวฮัมขึ้นมาปิดการสนทนาวัยนักเรียนแทน

“ ... สวยงามเป็นสง่า งามกิริยาสมศักดิ์ดรุณี เยื้องกรายพาที สมกุลสตรีศรีงามวิไล ...”

“… (เอิ่ม !) …” ห้าปีจาก มศ.๑ ถึง มศ.๕ คาดว่าจะมีเรื่องราวความทรงจำวัยนักเรียนที่หวนคิดถึงวีรกรรมคราวใด จะกลายเป็นภูมิคุ้มกันหรืออุทาหรณ์ไว้สอนใจคนรุ่นหลังได้บ้าง แต่ตั้งแต่ปักเสื้อขาวนักเรียน ส.ว. จาก ดญ.อัศนีย์ มาจนถึง น.ส.อัศนีย์ ไม่เคยมีเรื่องเล่าเหล่านั้นเลย จึงหมดมุกคำถาม อย่างนั้นขอความเห็นก่อนเข้าสู่วัยค้นหาความจริงในรั้วมหาวิทยาลัยแทนแล้วกัน อีกสองข้อร่วมสมัยเกี่ยวกับความเท่าเทียมทางเพศ อดีตนักเรียนโรงเรียนหญิงล้วนจะเห็นเหมือนหรือต่างไปอย่างไร

คำถามมีอยู่ว่า มุมเนื้อหาหนึ่งในการเรียนของเด็กไทยมี “สุภาษิตสอนหญิง” ที่บัญญัติขึ้นมาโดยผู้ชาย แล้วหากจะมี “สุภาษิตสอนชาย” บ้างจะดีไหม เห็นด้วยไหม ?

“เห็นด้วย”

แต่จะลิขิตโดยใครก็ได้ ไม่จำเป็นต้องให้ผู้หญิงไปสอนผู้ชาย “ใครก็ได้”

ส่วนอีกวลีดังของอดีตผู้นำสหรัฐอเมริกาที่ว่า “ปัญหาส่วนใหญ่ในสังคมเกิดจากคนรุ่นเก่า โดยเฉพาะชายสูงวัยยึดติดอำนาจ” เห็นด้วยไหม ?

เว้นวรรคหายใจคิดคำตอบนานกว่าคำถามอื่น ๆ ผลคือไม่ปฏิเสธ


นักเรียนผู้ที่ไม่เคยมีชุดเที่ยวกระทั่งจบ มศ.๕ โรงเรียนสตรีล้วนติดกับอนุสาวรีย์และถนนแห่งประชาธิปไตย เป็น-อยู่-คือ ‘หนอนหนังสือ’ อ่านเขียนเรียนซ้ำ ๆ นับสิบรอบจนแตกฉาน มีความสุขกับการเป็นหนอนผู้ชอนไชความรู้อยู่บนหน้ากระดาษเหล่านั้น ชีวิตนักเรียน ป.๑ ถึง ป.๗ แจงว่า “ไม่มีอะไร” “มัธยมถึง มศ.๕ ที่โรงเรียนสตรีวิทย์ ยิ่ง​ไม่มีอะไร” แต่ในรั้วมหาวิทยาลัยที่กำลังตามมาหลังจากนี้ จะเปลี่ยนจากศูนย์ไปนับหนึ่งให้กับชีวิตที่พลิกผันอย่างมากมาย สตรี “ผ้าพับไว้” ผู้นี้ ใครจะคาดคิดว่าคือผู้นำพาตนเองไปอยู่อย่างทรหดกลางป่าถึงห้าปี แล้ววิถีการสู้ชีวิตแบบนั้นพอจะเป็นแรงบันดาลใจให้ใครได้บ้างไหม ... ชวนมาติดตามภาคต่อ ๆ ไปของ ‘วิศวกรข้อมูลสังคมมนุษย์’ ผู้เคยสร้างงานสร้างคนจำนวนไม่น้อยให้กับวงการวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ไทย ผู้เคยอำนวยกิจกรรมไอทีควอนตัมโครงการช่วงแรกของประเทศ ผู้เคยเป็นหัวหน้าโครงการการแพทย์อัจฉริยะ การเกษตรอัจฉริยะ ไปสู่สารพันงานมาตรฐานอัจฉริยะทั้งหลายซึ่งรวม ๆ แล้วอาจได้ชื่อใหม่เพิ่มด้วยว่า ‘คุณหญิงเอไอ (AI)’ คนนี้


-- (จบภาค ๒)

 
Woman in Science & Engineering - The Series 2022

“เรียนรู้ประวัติศาสตร์ เพื่ออนาคตที่ผิดพลาดน้อยลง”


ร่วมสนับสนุนกิจกรรมถ่ายทอดประสบการณ์สาธารณะ รวมทั้งข้อคิดเห็น คำแนะนำ ฯ ได้ที่

Email: thailand_chapter@comsoc.org

 

Comments


FEATURED POSTS

FOLLOW US

  • Facebook Long Shadow

 

DROP US A LINE 

Your details were sent successfully!

  • Facebook page
bottom of page