“To Honor the Award #2” –สร้างภาพลักษณ์ให้กับรางวัล (๒)
ช่วงเวลาต้นสหัสวรรษใหม่ ค.ศ.2000 ขณะที่วิทยาการไอทีของโลกตะวันตกเริ่มคึกคัก ส่วนประเทศจีนเพิ่งตั้งตัวได้ไม่นานกับโลกวิทยาการ อินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์เคลื่อนที่คือเทคโนโลยีที่กำลังออกดอกเก็บผลสะพรั่งที่ฝั่งยุโรป ณ เวลานั้นประเทศฟินแลนด์กำลังโด่งดังร่ำรวยกับระบบจีเอสเอ็ม (GSM) และงานยุคใหม่ไอทีอย่างยิ่งยวด จึงมีกิจกรรมการสร้างภาพลักษณ์ด้วยการมอบรางวัลราวกับเป็นการขอแบ่งซีนความโด่งดังจากอีกสองประเทศเพื่อนบ้านนอร์ดิกคือสวีเดนกับนอร์เวย์ที่ออกตัวด้วยรางวัลโนเบลนำไปไกลก่อนแล้วนับร้อยปี
๓) รางวัล the Millennium Technology Prize 1 ล้านยูโร
กลุ่มองค์กรจากประเทศฟินแลนด์ได้สถาปนารางวัลต้นสหัสวรรษใหม่ยุคไอทีแรกเริ่มนี้ขึ้นโดยเน้นไปที่ตัวเทคโนโลยีมากกว่าวิทยาศาสตร์พื้นฐาน มีวัตถุประสงค์ภาพลักษณ์อันแจ้งกล่าวไว้อย่างชัดเจนว่าทั้งต่างจากโนเบลและเพื่อสถานะของประเทศฟินแลนด์ (… tribute to innovations for a better life. The aims of the prize are to promote technological research and Finland as a high-tech Nordic welfare state) ด้วยรางวัลที่มีมูลค่ายกสูงขึ้นไปถึง 1 ล้านยูโร มีข้อกำหนดที่น่าสนใจมากคืออาจมอบให้กับผลงานที่กำลังดำเนินการอยู่ แล้วก็มิใช่ผลลัพธ์ที่อาจคงอายุอยู่นานดั่งเช่นของรางวัลวิทย์พื้นฐานอื่น ๆ และนั่นคือความต่างที่ต้องการสร้างภาพใหม่ให้กับตัวรางวัล (… may be given to a recently conceived innovation which is still being developed. The Millennium Technology Prize is not intended as a reward for lifetime achievement)
รางวัลนี้จัดมอบสองปีครั้งและเริ่มมาตั้งแต่ ค.ศ. 2004 โดย Tim Berners-Lee หนึ่งในผู้เริ่มโลกอินเทอร์เน็ต (world wide web) คือผู้ได้รับคนแรก ส่วนสองปีถัดมา (2006) มีทั้ง Shuji Nakamura หนึ่งในผู้ประดิษฐ์แอลอีดีแสงสีน้ำเงินบุคคลที่ไปต่อกับรางวัลโนเบลอีกในปี ค.ศ.2014 ด้วย จึงมีการวิเคราะห์จากตัวอย่างนี้กันว่ารางวัล Millennium Technology Prize มาดักทางรางวัลกระแสหลักเพื่อนำไปสร้างกระแสให้ตนเองก่อนหรือไม่
อีกทั้งสองปีถัด ๆ มา หัวข้อผลงานที่ได้รับปรากฏกระจัดกระจายมากในหลากหลายสาขาทั้งมุมอิเล็กทรอนิกส์ ไอที รวมไปถึงชีววิทยา (DNA) ซึ่งตัวเทคโนโลยีร่วมสมัยเหล่านั้นถูกคลื่นลูกใหม่โด่งดังกว่าเข้าแทนที่ได้ ชื่อเสียงของผลงานจึงอาจลดถอยลงตามกระแสที่เปลี่ยน กระทั่งปี ค.ศ. 2012 และ 2018 มีคนสัญชาติฟินแลนด์เองเข้ารับรางวัลด้วย ทั้งหมดจึงทำให้ความขลังของรางวัลอายุสองทศวรรษนี้ยังมีน้ำหนักน้อยมาก แต่ยังคงยากที่จะพิจารณาได้ว่าคือรางวัลเพื่อ“สร้างภาพลักษณ์ของผู้ให้” หรือ“สร้างเกียรติยศต่อผู้รับ” และจะยั่งยืนยาวนานหรือไม่ จึงควรติดตามกันต่อไปอีกสักระยะ
๔) รางวัล QEprize - Queen Elizabeth Prize for Engineering £1 ล้านปอนด์
รางวัลสองปีครั้งอีกแห่งกำเนิดขึ้นเมื่อ ค.ศ.2013 โดยชื่อรางวัลแจ้งบอกนัยสำคัญวัตถุประสงค์และสาขาไว้ในตัวเองแล้ว โดยปีแรกเล่นใหญ่มอบให้กับจุดเปลี่ยนการสื่อสารของโลกเช่นกันคือ The Internet and the World Wide Web มอบให้กับบุคคลที่โลกอินเทอร์เน็ตรู้จักเป็นอย่างดีทั้ง Robert Kahn Vinton Cerf Louis Pouzin และ Marc Andreessen อันมิใช่เพียงแค่ Tim Berners-Lee ที่รับเดี่ยวจากรางวัล the Millennium Technology Prize เมื่อเก้าปีก่อนหน้า QEprize จึงถูกเปรยราวกับว่าเป็นกลยุทธการอาศัยต่อฐานจากภาพลักษณ์รางวัลอื่นที่สถาปนาขึ้นก่อนหรือหาทางลัดในการสร้างความขลังให้ตัวรางวัลที่ตั้งขึ้นมาใหม่
และอีกครั้งแนวเดียวกันนั้นอีกมีเหตุให้ขบคิดอีกในปี ค.ศ.2021 ที่ประกาศมอบให้กับผู้ประดิษฐ์แอลอีดีสีพื้นฐาน (แดง เหลือง น้ำเงิน) โดยไม่ตกชื่อ Nick Holonyak เจ้าของแอลอีดีสีแดงที่คิดค้นมาตั้งแต่ค.ศ.1962 แต่ยังไม่เคยได้รับรางวัลใหญ่ (ปี ค.ศ.2014 ก่อนหน้านั้น มีแอลอีดีเพียงสีน้ำเงินที่ได้ชิงรับโนเบลไปก่อนสามคน - Isamu Akasaki Hiroshi Amano และ Shuji Nakamura อันเนื่องมาจากทำให้สีพื้นฐานครบเกิดเป็นแอลอีดีที่ให้แสงขาวเพื่อการส่องสว่างทั่วไป เป็นจุดเปลี่ยนทำให้โลกได้แหล่งกำเนิดแสงสว่างจากอุปกรณ์ใช้พลังงานน้อยมากนี้สำเร็จ แต่โนเบลปีนั้นก็ทำให้เกิดการวิพากษ์มาอย่างยาวนาน) จึงราวกับว่ารางวัล QEPrize 2021 ได้ทำหน้าที่ชดเชยให้แล้วเป็นอันยุติการถกเถียงลงได้ว่าไม่ยุติธรรมกับผู้คิดค้นแอลอีดีสีหลักอื่น ๆ ที่ก็ยังมีชีวิตอยู่ ปีนี้จึงมอบรวมให้กับสองลูกศิษย์ของ Nick Holonyak ด้วย นั่นคือ George Craford ผู้สร้างแอลอีดีสีเหลืองและ Russell Dupuis ผู้พัฒนาเทคนิคไปสู่ระดับการสร้างเชิงพาณิชย์ด้วย จึงเป็นความสวยงามของแสงครบทุกเฉดสีแล้ว ... แต่ ช้าก่อน !
มีเรื่องให้น่าขบคิดต่อเพราะมิใช่ทั้งหมดของผู้คิดค้น หนึ่งในสามของทีมแอลอีดีสีน้ำเงินผู้เคยรับรางวัลโนเบลไปแล้วคือ Hiroshi Amano กลับไม่มีชื่อในรางวัล QEPrize 2021 เสียแล้ว !
ทั้งนี้ก็เพราะว่ารางวัลชื่อประมุขของอังกฤษนี้เน้นไปกับผลด้านวิศวกรรม (engineering) มิใช่วิทย์พื้นฐาน (ฟิสิกส์ เคมี) ดังที่ประกาศเกียรติคุณไว้กับรางวัลโนเบล (แต่อาจต้องคิดอีกตลบหากจะมีใครตั้งคำถามว่า Hiroshi Amano จบสาขาวิศวกรรมไฟฟ้ามามิใช่หรือ - มิใช่ฟิสิกส์พื้นฐาน)
คำสรรเสริญของรางวัลปี 2021 ระบุว่า
“for the creation and development of solid-state lighting and its contribution to green energy,”
การตั้งรางวัลสูงถึงหนึ่งล้านปอนด์โดยชื่อรางวัลบอกอิงครบถึงวัตถุประสงค์และสาขาที่ต้องการมอบไว้ เมื่อพ่วงกับการมอบรางวัลแบบทางลัดให้กับผู้ที่เคยพลาดรับรางวัลอื่นมาก่อนดังสองตัวอย่างข้างต้นอาจเป็นกลยุทธใหม่ที่ยังไม่แจ่มแจ้งนัก จึงยังต้องใช้เวลาพิจารณารางวัลหน้าใหม่ทศวรรษแรกนี้กันต่อไปอีกหลายครั้ง ว่าลึก ๆ แล้วเพื่อต้องการ “สร้างภาพลักษณ์ให้กับรางวัล” “รางวัลเพื่อสร้างเกียรติยศให้ผู้รับ” หรือวาระอื่นใดที่มากกว่านั้นกันแน่
๕) รางวัลสามล้านเหรียญกับการพัฒนาครั้งสำคัญ (The Breakthrough Prizes)
The Breakthrough Prizes ก่อตั้งขึ้นมาเมื่อค.ศ. 2012 โดย Sergey Brin (ผู้ร่วมก่อตั้ง Google) Priscilla Chan และ Mark Zuckerberg (คู่ภรรยาสามีเจ้าของ Facebook) และคนดังอีกหลายกลุ่ม ขณะที่เงินรางวัลมีชื่อมหาเศรษฐีไอทีโลกทั้ง Jack Ma ผู้ก่อตั้งอะลีบาบา และ Ma Huateng เจ้าของ Tencent มาร่วมลงขันเพิ่มอีกด้วย โดยมีสามสาขาหลักด้านที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ทั้ง Breakthrough Prize in Mathematics Breakthrough Prize in Fundamental Physics และ Breakthrough Prize in Life Sciences ตามด้วยอีกสองแขนงที่แตกต่างคือด้านภาพยนตร์ Breakthrough Filmmakers Challenge และความสำคัญเกี่ยวกับเยาวชน Breakthrough Junior Challenge โดยเริ่มมอบรางวัลในปีถัดมา (2013)
รางวัลนี้ถูกกล่าวขวัญถึงอย่างแตกต่าง มีทั้ง รางวัลจากเจ้าพ่อเฟสบุ๊คจ่ายทุกปี รางวัลมูลค่าสูงสุด $3 ล้านเหรียญ รางวัลไฮโซ รางวัลที่จัดงานเหมือนประกาศรางวัลเพลงหรือภาพยนตร์ ฯลฯ แต่กระนั้น ดูเหมือนว่าการสร้างภาพลักษณ์ของตัวรางวัลนั้นแทบไม่มีผลเนื่องจากทั้งผู้ก่อตั้งผู้ลงขันเงินรางวัลคือผู้ประสบความสำเร็จและเป็นมหาเศรษฐีของโลกมีความพร้อมทุกด้านอยู่ในตัวเองแล้วทั้งชื่อเสียงและห่างไกลจากความจำเป็นในการขอรับบริจาค (donate) เพื่อนำมาเป็นเงินรางวัลหลัก
รางวัลนี้ได้เปลี่ยนภาพการมอบรางวัลมาที่การเป็นกระแสด้วยความรวดเร็วด้วย เช่นกรณีโครงการ the Event Horizon Telescope (EHT) ความร่วมมืออันได้มาซึ่งภาพแรกที่มนุษย์ได้เห็นหลุมดำ (black hole) ที่เพิ่งจะเป็นข่าวสด ๆ ร้อน ๆ ในปี ค.ศ.2019 มารับรางวัลในปีถัดมา และเป็นการมอบรางวัลที่มิได้ยึดติดกับตัวผู้นำรัฐหรือประเทศเจ้าของรางวัลและชื่อปราชญ์โบราณให้ดูขลัง แต่รางวัล “Oscar of Science” นี้ได้กลายรูปแบบมาเป็นการจัดงานประจำปีที่สดใสไฟสว่างไปแล้ว การมอบรางวัลวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีหลังยุคหลัง COVID19 นี้จึงเป็นการประลองกำลังกันระหว่าง “ความขลัง” และ “ความอลังการ” ของตัวรางวัล ส่วนรางวัลใดจะยั่งยืนเทียบแข่งกับรางวัลโนเบลได้หรืออาจจางหายไป อนาคตของสังคมแนวทางใหม่ (new normal society) จะเป็นเครื่องพิสูจน์ต่อไป
(บทสรุป)
รางวัลประจำปี Future Science Prize (จีน) หรือ Millennium Technology Prize (ฟินแลนด์) และ QEprize (อังกฤษ) สองปีครั้ง และ Breakthrough Prizes ที่มอบทุกปีและมูลค่าสูงที่สุด ($3 ล้าน) ทั้งหมดอายุอยู่ใน ๑ - ๒ ทศวรรษแรก แม้วัตถุประสงค์จะให้รางวัลต่างกันที่ต่างกันออกไปแต่ภาพด้านหลังที่ปรากฏในสังคมยังคงยึดติดไปกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และถึงอย่างไรความขลังยังห่างไกลนักเมื่อเทียบกับรางวัลโนเบลรุ่นอาวุโส กระนั้น สี่รางวัลใหม่เหล่านี้มีแนวโน้มที่ยังคงไปต่อได้ เป็นสามรางวัลที่ยังปรากฏความเสี่ยงต่ำแม้เลือกวิ่งตามทางวิทยาการร่วมสมัยที่เปลี่ยนแปลงไว
ดังนั้น เมื่อพิจารณาเพ่งมาที่น้องใหม่ล่าสุดรางวัลควอนตัมม่อจื้อกับอายุสามปีแรก โดยกำหนดมอบทุกปีกับสาขาที่เฉพาะทางแคบสุด ๆ โดยคาดหวังว่าจะยิ่งใหญ่ร่วมสมัยในอนาคตที่ยังคาดการณ์ไม่ได้ อีกทั้งเงินรางวัลก็น้อยกว่าตัวอย่างอื่น ๆ ร่วมสิบถึงสามสิบเท่าตัว โลกทั่วไปเข้าใจเข้าถึงเป้าหมายได้น้อยยิ่งนัก (ทั้งคำ “ควอนตัม” และปราชญ์ “ม่อจื้อ”) จึงเป็นรางวัลมีความเสี่ยงสูงที่สุดในบรรดารางวัลตัวอย่างที่ยกมา แต่ถึงอย่างไรรางวัลม่อจื้อก็คือความพยายามที่ลงไปไม่เสียเปล่าหากวันใดข้างหน้าต้องเลิกลาไป เพราะสาขาเฉพาะนี้เป็นทิศทางอนาคตที่สำคัญยิ่งซึ่งประเทศจีนเองได้กลายมาเป็นผู้อยู่แถวหน้าด้านนี้ของโลกมีความพร้อมแล้วทั้งด้าน “กำลังคน วิทยาการ งบประมาณ และนโยบาย” .... ประเทศที่พร้อม เก่งกาจ ร่ำรวย และมีอนาคต” จะตั้งรางวัลใหม่ขึ้นมาเพื่อ“สร้างภาพลักษณ์ให้กับรางวัล” หรือ “รางวัลเพื่อสร้างเกียรติยศให้ผู้รับ” ใด ๆ เพิ่มอีก จะมิใช่เรื่องแปลกหรือน่าเขินอายแต่อย่างใดกับกลยุทธแบบนั้น ...
“เมื่อความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจำเป็นต้องมีภาพลักษณ์”
(บทเรียนสอนไทย)
ขณะที่โลกภายนอกเกิดการแข่งขันสร้างผลงานจริงและสร้างภาพลักษณ์และเครือข่ายด้วยรางวัล อันเป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาปกติจากโลกตะวันตกจนมาถึงประเทศจีนที่เริ่มทำการคล้ายคลึงกัน ไม่ว่าจะยั่งยืนความขลังได้ใกล้เคียงรางวัลโนเบลและมีวาระซ้อนเร้นหรือไม่ก็ตาม เช่นการสร้างภาพลักษณ์ให้กับตัวรางวัลด้วยการเชิญผู้มีชื่อเสียงต่างชาติมารับรางวัล หรือ การมอบให้บุคคลในชาติเจ้าของรางวัลเอง อย่างไรผลดียังคงมีต่อทั้งวงการและตัวผู้รับรางวัลนั้นด้วยแน่นอนในหลากหลายมุม กลยุทธของรางวัลระดับโลกทั้งห้าตัวอย่างนี้จึงควรค่าแก่การติดตามศึกษาลึก ๆ กันต่อไป
สำหรับประเทศไทย - กรณีศึกษาเด่นต่อจากนี้ควรนิยามว่าคือกลยุทธใด ?
พบว่ามีหนึ่งรางวัลสำคัญระดับชาติที่เริ่มมาตั้งแต่กลางทศวรรษ ๒๕๔๐ เมื่ออายุผ่านมาถึงทศวรรษที่สอง ปรากฏชื่อผู้สนับสนุนการให้รางวัล กลับกลายมาเป็นผู้รับรางวัลที่ตนมีส่วนร่วมสร้างขึ้นนั้นมาเสียเอง !
by K Sripimanwat
"วัฒนธรรมการสถาปนารางวัล (รวมทั้งคำสรรเสริญ) ให้ตนเอง ได้กลายเป็นพฤติกรรมเลียนแบบกันต่อเนื่องมา ..."
(เพิ่มเติม) สารคดีสี่จดหมายเหตุ "ปัญญาอลวน" ... บันทึกหนึ่งในเรื่องราวพิลึกของสี่สิบปีอดีตกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
Comments