โครงการหนังสือและสื่อ “ควอนตัมศรีธนญชัย” | FACTs Feel Fun - the series #1| เชิญร่วมกิจกรรมวิทยาทาน พ.ศ.๒๕๖๗ | Fundraising 2024
ชุดโครงการสร้างสรรค์สื่อวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
FACTs Feel Fun - the series
(updated: August 11, 2024)
เรื่อง “ควอนตัมศรีธนญชัย” -- ภูมิคุ้มกันวิทย์เทียมสำหรับเยาวชน
(Immunity for Youth: “The Discourse of Fake Quantum & Dark Light”)
จัดพิมพ์หนังสือจำนวน ๕๐๐ เล่ม
(พร้อมสื่อดิจิทัล วีดีโอ อินโฟกราฟิกฯ)
เพื่อใช้จัดกิจกรรมวิทยาทานเพื่อเผยแพร่สร้างภูมิคุ้มกันวิทย์เทียมสาธารณะ
๐ เกี่ยวกับ -- “ควอนตัมศรีธนญชัย” ๐
โครงการนำร่องเพื่อพัฒนากิจกรรมสาธารณะ หลังจากที่ได้เริ่มสำรวจและทดลองดำเนินงานมากว่าหกปี นำมาจัดทำเป็นโครงการหนังสือและสื่อดิจิทัล (วีดีโอ อินโฟกราฟิก ฯ) เรื่อง “ควอนตัมศรีธนญชัย” บนพื้นฐานที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมการเรียนรู้สำหรับเยาวชนและผู้ไม่มีพื้นฐานความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ในสังคมไทยเป็นกลุ่มเป้าหมาย โดยมีหมวดความรู้สู่การจัดทำหนังสือและสื่อดิจิทัล ฯ ครอบคลุมหัวข้อย่อยต่าง ๆ ดังแนวทาง;
หมวด “รู้เท่าทันควอนตัมเทียม” - การอ้างชื่อควอนตัมสร้างภาพลักษณ์ความขลัง
๐ หฤหรรษ์สารพันสินค้าควอนตัม (เครื่องใช้ประจำบ้าน รถ ที่ทำงาน ของเล่น เครื่องดื่ม บริการ ฯ )
๐ มงคลควอนตัมกับความขลังพลังวิเศษ (ของขลัง เครื่องตรวจสุขภาพเทียม ภาชนะพลังวิเศษ ฯ)
๐ ควอนตัมจากหนังและสร้างนิยายขาย (สื่อที่แพร่กระจายรวดเร็วและกว้างขวางมาก)
๐ ความใฝ่ฝันบริหารงานแถลงข่าวควอนตัม (ทัศนคติของนักบริหารและเซเลป)
๐ ภาพลักษณ์ยอดไลก์สาธยายควอนตัม (ความฝันเฟื่อง สร้างภาพลักษณ์ และความเชื่อส่วนบุคคล)
๐ ควอนตัมสะดวกซื้อ ควอนตัมไทยนิยม (คิดอะไรไม่ออกบอกว่าคือควอนตัม)
ฯลฯ
หมวด “วิทยาการจริงแต่อิงโอกาสน้อยนิด”- ความน่าจะเป็นน้อยมากยากจะเกิด แต่โฆษณาเลยเถิดเกินจริง (Hype)
๐ ควอนตัมเศรษฐศาสตร์และตลาดหุ้น (เล่นแล้วรวยตลอดยอดขุนพล !)
๐ ระบบสื่อสารควอนตัมเรือดำน้ำ (ดำมาโผล่เมืองไทยไหม !)
๐ เรดาห์ควอนตัม (ตรวจจับได้ ถามได้ตอบได้ ยังเว้นเรื่องตนเอง !)
๐ หมากรุกควอนตัมนำโลก (รุกไล่ทุกตานำพาทุกแชมป์คุยโต !)
๐ ควอนตัมกับการเล่นไพ่ (ไม่แพ้ แต่อาจติดคุก !)
ฯลฯ
หมวด “ควอนตัมจริงแต่เติมแต่งข่าวเกินจริง” - เลือกโฆษณาเฉพาะบางด้านเพื่อประโยชน์จากความคลุมเครือ
๐ กุญแจรหัสลับควอนตัมดูแลโรงไฟฟ้านิวเคลียร์และเรือรบ (จับแพะชนแกะ)
๐ โครงข่ายอินเทอร์เน็ตควอนตัมเร็วจัดและปลอดภัยสูงสุด (เพราะไม่เกี่ยวกับใครใด ๆ !)
๐ จำนวนสุ่มควอนตัมกับโทรศัพท์ 5G (ปลอดภัยเพราะเจ้าของและผู้แอบใช้ก็ไม่รู้ว่าคืออะไร !)
๐ “ควอนตัมแฮก” อ้าว ! แล้วไหนว่าแฮกไม่ได้ (ย้อนแย้ง หิวแสง ตะแบงตามงบวิจัย !)
๐ โครงข่ายควอนตัมสมมติว่า “ไว้ใจได้” (โลกที่ไว้ใจได้จึงไม่จำเป็นต้องมีรหัส !)
ฯลฯ
หมวด “ควอนตัมนั่งเทียนเปล่งแสงลวง” - ผิดไปแล้วต้องแก้ไข ทบทวนอดีตและปัจจุบันงานวิจัยทั่วประเทศ
๐ งานวิจัยนั่งเทียน: ที่มา สาเหตุ และแนวทางป้องกัน (สถิติดัชนีสังคมวิชาการมันฟ้อง !)
๐ “รู้เท่าไม่ถึงการณ์” (คำแก้ต่างมาตรฐานไทย !)
๐ “รู้แล้วยังทำ” (สวรรค์ให้พรมาดริฟท์ !)
๐ “ปั่นงานปลอม” (อสูรกายในโลกความจริง !)
๐ “หลุดโลก” (ยอดมนุษย์สุดขอบคนละโลก !)
ฯลฯ
หมวด “ควอนตัมเปลี่ยนเมืองไทยให้หลงทิศผิดทางไปถึงไหนแล้ว" - บทสรุปสร้างภูมิคุ้มกันวิทยาศาสตร์เทียม
๐ เกี่ยวกับ -- ชุดโครงการ FACTs Feel Fun - the series ๐
อารัมภบท
ชุดโครงการเพื่อวิถีต้นแบบการพัฒนาสื่อวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเชิงสร้างสรรค์ร่วมสมัย ทั้งสำหรับสร้างโอกาสและสร้างภูมิคุ้มกันรู้เท่าทันสื่อปลอมหรือลวง ด้วยผลผลิตสื่อความรู้วิถียั่งยืนที่มีอัตลักษณ์หลากหลายแนวทาง พร้อมเปิดกว้างสร้างผู้ร่วมประสานงานเครือข่ายและสามารถเป็นกลไกในการตรวจสอบข่าวรวมทั้งเฝ้าระวังสื่อไม่ปลอดภัยที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งเพื่อใช้ผลลัพธ์สร้างความร่วมมือกับองค์กรที่เกี่ยวข้องทั้งสื่อสารมวลชน ภาควิชาการและภาคสังคมทั่วไปทั้งในและต่างประเทศด้วย โดยมุ่งเป้าเน้นหนักกับหัวข้อวิทยาการสาขาใหม่ ๆ จากการอ้างถึงคำ “ควอนตัม” เพื่อการประยุกต์ต่าง ๆ ซึ่งกำลังส่งผลกระทบสูงต่อสังคม รวมทั้งเป็นแกนหลักของการแตกแขนงสู่การกำเนิดวิทยาการเทียม เทคโนโลยีลวง หรือเรื่องวิทย์คลุมเครืออื่น ๆ เช่น เหรียญควอนตัม เครื่องตรวจสุขภาพควอนตัม แผ่นหรือสายประหยัดน้ำมันควอนตัม และที่ปรากฏอยู่ทั่วไปอีกจำนวนมาก ทั้งนี้ ด้วยการพัฒนากิจกรรมสาธารณะที่ได้เริ่มสำรวจและทดลองดำเนินงานมาด้านสาขาไอทีประยุกต์ จึงจะได้นำประสบการณ์ดังกล่าวมาต่อยอดจัดทำเป็นโครงการนำร่องแนวทางต่าง ๆ เพื่อการพัฒนาสื่อตัวอย่างโดยมีวิถียั่งยืนและมีปฏิสัมพันธ์กับเครือข่ายผู้ใช้งาน บนพื้นฐานที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมการเรียนรู้ตั้งแต่ระดับเยาวชนหรือผู้ไม่มีพื้นฐานความรู้ด้านวิทยาศาสตร์เป็นกลุ่มเป้าหมาย มีเนื้อหารวมทั้งรูปแบบร่วมสมัย อันจะเป็นต้นแบบใช้ขยายผลนำไปสู่การพัฒนาโครงการสาธารณะสร้างภูมิคุ้มกันวิทยาการเทียมเฉพาะทางอื่น ๆ ในปีต่อ ๆ ไปได้โดยสะดวกด้วย - FACTs Feel Fun ... ร่วมกันสร้างสรรค์สื่อวิทยาศาสตร์ปลอดภัยแด่สังคมไทย !
พันธกิจ
สร้างสรรค์วิถีและเครือข่ายจัดทำสื่อสู่ความตระหนักต่อวิทยาการแขนงใหม่
รู้เท่าทันและพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงร่วมกัน
วิสัยทัศน์
สังคมไทยมีภูมิคุ้มกันสาธารณะต่อข้อมูลวิทยาการที่โฆษณาเกินจริงและวิทยาศาสตร์เทียม
ด้วยแนวทางที่เหมาะสมตั้งแต่ระดับเยาวชน
คำสำคัญ (keywords): วิถีสื่อสารวิทยาการแขนงใหม่ สื่อหลากหลายอ้างอิงได้ ภูมิคุ้มกันวิทยาศาสตร์เทียม เตรียมพร้อมตั้งแต่ระดับเยาวชน ชุมชนความร่วมมือสร้างเครือข่าย ต่อยอดวิจัยพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน
ที่ปรึกษาชุดโครงการ
1) ศาสตราจารย์ ดร.สุทัศน์ ยกส้าน (ราชบัณฑิต)
2) รองศาสตราจารย์ ดร.ณรงค์ อยู่ถนอม (ที่ปรึกษา IEEE ComSoc Thailand)
3) ศาสตราจารย์ ดร.ประยุทธ อัครเอกฒาลิน (เมธีวิจัยอาวุโส)
ผู้รับผิดชอบชุดโครงการ
ดร.เกียรติศักดิ์ ศรีพิมานวัฒน์
ประธานสาขาไฟฟ้าสื่อสาร (chapter chair) และ กลุ่มสารสนเทศเชิงควอนตัม (IEEE Thailand Section Quantum IT group)
คณะทำงาน
ผศ.ดร.ชลิต วณิชยานันต์ อดีตรองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา
รศ.ดร.สุภาพ ชูพันธ์ หัวหน้าภาควิชา
ภาควิชาฟิสิกส์และวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
Web: www.Q-Thai.Org & web.facebook.com/QuantumCryptoThailand
ประเภทกิจกรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกับการสร้างสรรค์สื่ออย่างยั่งยืน
กลุ่มเป้าหมาย ประชาชนทั่วไป สถาบันการศึกษา กลุ่มวิชาการ นักเรียน นักศึกษา
รายละเอียดชุดโครงการ
1. ความเป็นมาของปัญหา
โดยปกติ พลันที่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแขนงใหม่ใด ๆ ได้เข้ามาสู่ประเทศไทย ปรากฏการปรับตัวที่หลากหลายทั้งด้านบวกและลบสนองตอบต่อการเปลี่ยนแปลงจากวิทยาการนั้นอันเป็นประสบการณ์ที่เปรียบเสมือนทั้งสองด้านของเหรียญเสมอ โดยเฉพาะกับวิทยาการที่สัมพันธ์กับพัฒนาการด้านโทรคมนาคมหรือสารสนเทศ (ไอที) ที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็วย่ิง ซึ่งทำให้ชีวิตความเป็นอยู่และวิถีของการสื่อสารสู่มวลชนมีความสะดวกและรวดเร็วตามไปด้วย แต่ทั้งนี้ พัฒนาการอีกด้านของการใช้เทคโนโลยีเพื่อประโยชน์ต่าง ๆ จะมาพร้อมกับการสื่อสารที่ปลอมหรือลวงพ่วงอยู่บนความก้าวหน้าเหล่านั้นมากด้วยเช่นกัน ดังที่ทราบโดยทั่วไป
ขณะเดียวกัน เทคโนโลยีที่อยู่ระหว่างการพัฒนาในต่างประเทศและเริ่มมีแนวทางการประยุกต์ต่อยอดเข้ามีบทบาทและศักยภาพที่สูงยิ่งขึ้นไปอีกกำลังเป็นที่วิตกกังวลถึงการปรับตัวของประเทศไทยทั้งด้านการสูญเสียโอกาสหากขาดซึ่งความพร้อม รวมไปถึงผลกระทบเชิงลบหากขาดพื้นฐานการรู้เท่าทัน เช่น เทคโนโลยีด้านปัญญาประดิษฐ์ (หรือ AI) บล็อกเชน (blockchain) ไบโอเมตริกซ์ (biometrics) และที่สำคัญอย่างยิ่งคือ ไอทีหรือสารสนเทศควอนตัม (Quantum Information Technology - QICT) อันเป็นวิทยาการอุบัติใหม่ที่กำลังมีบทบาทกับทั้งการคำนวณที่เร็วและศักยภาพที่สูงยิ่งของคอมพิวเตอร์ควอนตัม (quantum computer) (เอกสารอ้างอิง ๑) และการสื่อสารเชิงควอนตัม (quantum communications) (เอกสารอ้างอิง ๒) ดังที่ปรากฏผ่านสื่อต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
โดยสังเขป วิทยาการไอทีที่พ่วงมากับคำว่า “ควอนตัม” นี้ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในต่างประเทศมาโดยลำดับ มีประสิทธิภาพสูงยิ่งและกำลังจะส่งผลกระทบต่อสังคมรอบด้านสูงขึ้นตามไปด้วย ทั้งด้านความปลอดภัยข้อมูลและการสื่อสารรวมถึงการประมวลผลที่รวดเร็วยิ่งยวด หน่วยงานทั้งภาครัฐและอุตสาหกรรมในประเทศชั้นนำได้ให้ความตระหนักอย่างมากถึงผลกระทบ มีการประกาศกำหนดแผนที่นำทาง (roadmap) ระดับประเทศหลายแห่ง เกิดผู้ผลิตไอทีสาขาใหม่นี้รายใหญ่ เช่น ที่เกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์ควอนตัมความเร็วสูงยิ่ง อาทิ IBM, Google, Microsoft, NASA และอื่น ๆ รวมถึงด้านการเข้ารหัสเพื่อความปลอดภัยข้อมูลสูงสุดเชิงควอนตัมที่ก้าวหน้าจนมีผลิตภัณฑ์ออกจำหน่ายแล้วไปจนถึงโครงการดาวเทียมควอนตัมของประเทศจีน อีกทั้ง สถาบันการศึกษาจำนวนมากได้จัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนารวมทั้งศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ให้ความรู้ที่เกี่ยวข้องทั่วโลกโดยได้รับทุนจากรัฐบาลของแต่ละประเทศที่สูงมาก สื่อประเภทต่าง ๆ จึงได้รายงานข่าวโอกาสของวิทยาการใหม่นี้อย่างกว้างขวาง ปรากฎทั้งข่าวจริงและการสื่อสารที่ผิดพลาดเกิดผลด้านลบหรือผลเสียต่อเนื่องไปถึงข่าวลวงที่มากขึ้นตามลำดับด้วยเช่นกัน สำหรับประเทศไทยยังคงอยู่ในระดับเพียงการเริ่มต้นเรียนรู้เท่านั้น และได้รับผลกระทบทั้งสองด้านทั้งกับหน่วยงานภาครัฐเองและสังคมทั่วไป
ขณะที่พัฒนาการทางวิทยาการดังกล่าวมีความน่าประทับใจและคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสังคมสูงดังกล่าวนั้นแต่ยังคงอยู่ในชุมชนคนที่มีความรู้พื้นฐานกลุ่มเล็ก ๆ ในสถาบันการศึกษาและวิจัย หน่วยงานของรัฐฯ หรือกลุ่มคนที่เกี่ยวข้อง ทว่า กลับพบว่าภาคสังคมคนส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เรื่องหลอกลวงและเหตุฉ้อฉลที่หนักหน่วง อาทิ การแอบอ้างใช้ชื่อ “ควอนตัม” ในหลายประเภทของบริการและผลิตภัณฑ์ (โดยไม่มีอะไรที่เกี่ยวข้องกับวิทยาการไอทีควอนตัมที่แท้จริง) เช่น การโฆษณาเหรียญควอนตัมเพื่อรักษาโรค เครื่องตรวจสุขภาพควอนตัมหลอกลวง สร้อยข้อมือและกระติกน้ำที่นำคำ “ควอนตัม” ไปใช้ตั้งเป็นชื่อสินค้า พร้อมอวดอ้างด้วยคุณสมบัติและผลลัพธ์อันน่าอัศจรรย์จากคำกล่าวที่คล้ายชื่อทางวิทยาศาสตร์นั้นผ่านสื่อต่าง ๆ ทั้งสิ่งตีพิมพ์ สื่อออนไลน์ และการขายตรง เป็นต้น
นอกจากนี้ยังพบว่ามีเรื่องอื้อฉาวจากในวงการวิชาการเองจำนวนมากด้วย รวมไปถึงงานวิจัยลวงวิชาการฉ้อฉล กระทั่งกรณีรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ทั้งหมดนั้นยิ่งทำให้เกิดผลกระทบด้านลบกว้างขึ้นและเข้าถึงได้ง่ายขึ้นอันเป็นผลมาจากสื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์ที่ผลิตขึ้นโดยตัวของนักวิชาการเองหรือหน่วยงานวิชาการต้นสังกัด (จึงดูน่าเชื่อถือมาก) เช่น เอกสารวิชาการที่ตีพิมพ์ คลิปข่าว ข่าวประชาสัมพันธ์องค์กร ฯ และหากมีผู้สื่อข่าวอาชีพหรือสำนักข่าวหลักนำวิทยาศาสตร์เทียมนั้นไปขยายผลโดยบังเอิญหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ต่อด้วยแล้ว จะยิ่งนำไปสู่การสูญเสียรอบด้านเกิดเป็นปัญหาร้ายแรงยิ่งขึ้น มิได้จำกัดอยู่เพียงวงการวิชาการเท่านั้น
จากการสำรวจวิจัยตลอดช่วงกว่าสิบปีจนถึงปัจจุบัน (เอกสารอ้างอิง ๓) ปรากฏว่า ข่าวสารจากภาคสื่อสารมวลชนหรือสำนักข่าวหลักแขนงต่าง ๆ ในประเทศไทยต่อเทคโนโลยีด้านใหม่ศักยภาพสูงมากด้านไอที ควอนตัมเหล่านั้นทยอยมีมากขึ้นโดยลำดับไม่เฉพาะเพียงการนำเสนอแง่บวกหรือประโยชน์ที่สังคมจะได้รับเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงทัศนคติเชิงลบที่แสดงถึงข่าวปลอมหรือผิดพลาดร่วมอยู่มาก (แปลผิด แต่งเติม หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ฯ) อันลุกลามส่งผลไปถึงการรับรู้ของเยาวชนคนรุ่นใหม่และสังคมอื่น ๆ ได้โดยง่าย ซึ่งผลการสำรวจดังกล่าวนั้นเผยแพร่อยู่ในระดับแวดวงวิชาการ จึงควรเร่งนำมาขยายต่อยอดปรับรูปแบบให้เหมาะสมจนสามารถเข้าถึงโดยบุคคลทั่วไปผู้มิได้มีพื้นฐานความรู้เชิงเทคนิค เพื่อมีโอกาสนำไปสร้างความเข้าใจเสมือนเป็นวัคซีนป้องกันข่าวปลอมเฉพาะทาง โดยควรพุ่งเป้าหมายไปเริ่มต้นกันตั้งแต่ระดับเยาวชนที่ยังขาดภูมิคุ้มกันแต่แวดล้อมไปด้วยทั้งสื่อลวงและผู้ใหญ่จำนวนมากที่เข้าใจวิทยาการใหม่นี้ในแนวทางที่ผิดเพี้ยน และขยายผลกลุ่มเป้าหมายไปครอบคลุมกลุ่มอื่น ๆ จนถึงแวดวงสื่อสารมวลชนหลักหรือสำนักข่าวที่เกี่ยวข้องด้วยในท้ายที่สุด
สรุปได้ว่า เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับคำว่า “ควอนตัม” แม้มีศักยภาพเชิงบวกที่สูงยิ่งแต่ก็ได้รับการยอมรับว่าเป็นหัวข้อที่ยากต่อการทำความเข้าใจ ยังคงเป็นที่สับสนในหมู่สาธารณะและเกิดปัญหาสะสมจากการเสพสื่อลวงสูงมากขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้น จึงควรต้องเร่งหาทางให้สังคมไทยมีความรู้ความเข้าใจ ตระหนักต่อวิทยาการและเทคโนโลยีแขนงใหม่เหล่านั้นโดยรู้ให้เท่าทันและพร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลง และร่วมกันสร้างภูมิคุ้มกันสาธารณะต่อข้อมูลวิทยาศาสตร์ฉ้อฉลและเทคโนโลยีลวงด้วยแนวทางที่เหมาะสม ชุดโครงการนี้จึงได้นำเสนอแนววิถีการสื่อสารต่อวิทยาการที่กำลังมีผลกระทบสูงต่อสังคม ด้วยการสร้างสื่อปลอดภัยต้นแบบในรูปแบบหลากหลายโดยให้ข้อมูลทั้งสองด้านที่เหมาะสมกับสภาพสังคมมีเนื้อหารวมทั้งรูปแบบร่วมสมัยและสื่ออออนไลน์พร้อมแหล่งข้อมูลอ้างอิงสู่การพัฒนาโครงการสร้างภูมิคุ้มกันวิทยาการเทียมสาธารณะที่ยั่งยืนอื่น ๆ ที่จะขยายผลต่อยอดในปีต่อ ๆ ไป ดังพันธกิจและวิสัยทัศน์ของโครงการข้างต้น
2. วัตถุประสงค์ของชุดโครงการ FACTs Feel Fun
๑) เพื่อพัฒนาวิถีการสื่อสารวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสู่สาธารณะกับวิทยาการใหม่ที่กำลังมีผลกระทบสูงต่อสังคม ทั้งสำหรับเรียนรู้สร้างโอกาสเชิงบวกกับข้อมูลด้านสร้างสรรค์และสร้างภูมิคุ้มกันรู้เท่าทันสื่อปลอมลวง
๒) เพื่อสร้างสื่อปลอดภัยสร้างสรรค์ต้นแบบโดยเผยแพร่ข้อมูลทั้งสองด้านของเทคโนโลยีอุบัติใหม่ที่เกี่ยวข้องกับคำว่า “ควอนตัม” และใกล้เคียงในแนวทางที่เหมาะสมกับสภาพสังคมไทยเน้นหนักตั้งแต่ระดับเยาวชน ทั้งหนังสือและสื่ออออนไลน์พร้อมแหล่งข้อมูลอ้างอิง
๓) เพื่อทดสอบใช้งานผลผลิตสื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับองค์กรที่เกี่ยวข้องทั้งสื่อสารมวลชน ภาควิชาการ และภาคสังคมทั่วไปทั้งในและต่างประเทศสำหรับแบ่งปันและร่วมกันต่อยอดกลไกการตรวจสอบข่าวและเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยที่เกี่ยวข้อง
๔) เพื่อทยอยสร้างชุมชนเครือข่ายและกิจกรรมออนไลน์อันเป็นการเตรียมความพร้อมขยายผลนำไปสู่การพัฒนาเป็น “ศูนย์กลางการตรวจสอบข่าวเฉพาะทาง” ร่วมกันต่อไป
3. การขยายผล
โครงการชุดวิถีการผลิตสื่อที่หลากหลายสำหรับสังคม พัฒนาขึ้นจากกิจกรรมวิชาการเชิงลึกกับประสบการณ์ที่ผ่านมา โดยนำมาปรับรูปแบบให้เหมาะสมในการผลิตเป็นสื่อ ซึ่งได้มีการทำงานร่วมกับเครือข่ายที่พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระดับวิชาการของ Thai Quantum Information Forum (Q-Thai.Org) หรือกลุ่มสารสนเทศเชิงควอนตัมไทยของสมาคมสถาบันวิศวกรไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์แห่งประเทศไทย (IEEE Thailand Section) รวมถึงความร่วมมือกับภาควิชาการต่างประเทศด้านไอทีควอนตัม (เอกสารอ้างอิง ๔) ซึ่งเครือข่ายความร่วมมือที่มีนี้อยู่จะร่วมกันนำผลผลิตจากโครงการนี้ไปปรับใช้เผยแพร่ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น และเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมขยายผลไปสู่;
3.1) งานวิจัยด้านการสื่อสารมวลชนที่เกี่ยวข้อง เช่น เตรียมโครงการ “ปั้นสื่อควอนตัมไทยไม่เป็น‘ตัว’” อันเป็นผลเนื่องมาจากการศึกษาขั้นพื้นฐานตามระบบตั้งแต่ระดับนักเรียนจนถึงการรับสื่อที่แปลกแตกต่างในสังคมไทยมายาวนานกว่าสี่สิบปีที่ปรากฏกว่า ภาษาไทยกำหนดให้การนิยามเรียกวิทยาศาสตร์ด้านที่เกี่ยวข้องนี้ต่างจากวิทยาการที่รับเข้ามาจากต่างประเทศ (มีหน่วยนับเป็น “ตัว” - เอกสารอ้างอิง ๕) ทำให้เกิดผลต่อการสร้างสื่อที่ผิดเพี้ยนจนถึงกลายเป็นสื่อปลอมไป “โดยธรรมชาติ” แทรกปรากฏในทุกระดับ คือ
ก) ตำราเรียนมาตรฐานของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)
ข) ข่าววิทยาศาสตร์ทั่วไปของสำนักพิมพ์ สำนักข่าว หรือสื่อทางการอื่น ๆ
ค) ข่าวของภาคสื่อสังคมออนไลน์ทั่วไป
ง) ภาควิชาการระดับอุดมศึกษาและการวิจัยและพัฒนา
ดังนั้น การร่วมกันสำรวจและวิเคราะห์หาแนวทางแก้ไขร่วมกับทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาศาสตร์ (linguistic) วิทยาศาสตร์ และด้านสื่อสารมวลชนที่เกี่ยวข้อง ควรได้นำพาซึ่งแนวทางการที่เหมาะสมในระยะยาวต่อไปได้ และเป็นกรณีศึกษาเชิงลึกต่อต้นกำเนิดหนึ่งของข่าวสารที่อาจผิดเพี้ยนอันเนื่องมาจากพื้นฐานของภาษาและวัฒนธรรมการปรับตัวของสังคมไทยเอง ซึ่งสามารถพัฒนาเป็นหัวข้อสหวิจัยของหลากสาขาในเวทีระดับชาติและนานาชาติต่อไปได้ด้วย ทั้งนี้ หัวข้ออื่น ๆ ที่อาจได้สร้างสรรค์จนเกิดนวัตกรรมเพิ่มเติมระหว่างการดำเนินงาน จะพิจารณาต่อยอดไปตามลำดับความสำคัญด้วยอีกเช่นกัน
3.2) “ศูนย์กลางการตรวจสอบข่าวเฉพาะทาง (ไอทีควอนตัม)” (Quantum Info. Tech - Fact Checking Center) อันเป็นแนวทางในระยะท้ายที่จะบูรณาการร่วมกับผลจากงานวิจัยด้านการสื่อสารมวลชนและภาษาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องข้างต้น พร้อมกับพื้นฐานการทำสื่อหลากหลายอันเป็นผลผลิตจากโครงการนี้ ซึ่งทั้งนี้ ยังคงต้องบ่มเพาะทั้งการพัฒนาเครือข่ายชุมชนข่าวสารที่เข้มแข็งขึ้น อีกทั้งเกี่ยวข้องกับการพัฒนาซอฟท์แวร์อัตโนมัติหรือระบบผู้ช่วยชาญฉลาดในการติดตามเฝ้าระวังและตรวจสอบข่าวผิดพลาด (ปลอม ลวง คลุมเครือ หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ (เอกสารอ้างอิง ๓)) เฉพาะทางที่ต้องมาถึงพร้อมกันทั้งหมดด้วย ซึ่งเมื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้ในอนาคต ชุมชนเครือข่ายฯเฝ้าระวังและสร้างโอกาสจากไอทีควอนตัมวิทยาการสาขาใหม่จะสามารถพึ่งพาตนเองได้ต่อไปในระยะยาว
4. บรรณานุกรม/เอกสารอ้างอิง
(เอกสารอ้างอิง ๑)
World Economic Forum: www.intelligence.weforum.org/topics/a1G0X000006OGsDUAW?tab=publications&searchTerm=quantum
(เอกสารอ้างอิง ๒)
ทรัพย์สินทางปัญญาเทคโนโลยีรหัสลับเชิงควอนตัม
(เอกสารอ้างอิง ๓)
ประเภทและตัวอย่างข่าวสารไอทีควอนตัมปลอม www.quantum-thai.org/no-fraud
(เอกสารอ้างอิง ๔)
ความร่วมมือกับหน่วยงานต่างประเทศ www.quantum-thai.org/tcqc-cacr-and-q-thai
(เอกสารอ้างอิง ๕)
“ปั้นสื่อควอนตัมไทยไม่เป็น‘ตัว’” www.quantum-thai.org/q-anatta
หน่วยงานเครือข่าย
สมาคมสถาบันวิศวกรไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์แห่งประเทศไทย (IEEE Thailand Section)
Comments