“หมกมุ่นกับการแก้ปัญหา ฯ” | ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช | วิพากษ์ “ปัญญาอลวน” | ๓ มกราคม ๒๕๖๗ |
“โอกาสได้รับฟังการถ่ายทอดประสบการณ์จากผู้ผ่านโลกมามากและนาน จะเสมือนการได้ย่นย่อเวลาให้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ของสรรพสิ่งหัวข้อได้จากการสนทนา และอีกครั้งเมื่อเวลาอันมีค่าของปรมาจารย์การจัดการความรู้ไทย ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ได้เอื้ออำนวย คำปรึกษาภารกิจเรื่องใหม่ ๆ ที่ยังห่างไกลนักกับ 'ไอทีควอนตัมไทย' จึงมาถึง”
ข้อความเดิมนี้ยกมาใช้ได้อีกครั้งไม่เสื่อมมนต์ขลัง เพราะหลังจากส่งการบ้านมุมมองสังคม ความรู้ การปฏิบัติกิจกรรมสาธารณะและอื่นใดครั้งก่อน ๆ ตลอดสองทศวรรษที่ผ่านมาเมื่อ พ.ศ.๒๕๕๖ ๒๕๕๙ ๒๕๖๑ ๒๕๖๒ ๒๕๖๓ โดยเว้นหยุดไประยะหนึ่งช่วงปีโควิด ๑๙ ก่อนหน้า รอบนี้หนังสือ "ปัญญาอลวน" ได้ไปถึงมืออาจารย์วิจารณ์สักพักหนึ่งแล้ว คำถาม คำวิพากษ์ หรือข้อแนะนำใด ๆ พร้อมแล้ว จึงได้โอกาสมานั่งเพ่งสีหน้ามองแววตาและสดับเสียงของที่ปรึกษาอาวุโสอีกครั้งพร้อมอาหารมื้อเที่ยงวันที่เพิ่งผ่านปีใหม่มาได้เพียงสองคืน
สนทนารอบนี้ อาจารย์หมอผู้เป็นดั่งปูชนียบุคคลด้านการศึกษาของประเทศมาพร้อมกับประสบการณ์แบบสุดขอบโลก เพราะเพิ่งผ่านคอร์สการรักษาร่างกายจากเซลล์แปลกปลอมด้วยวิธี "ภูมิคุ้มกันบำบัด" และรักษาจิตใจด้วยคอร์ส "เตรียมตัวตาย" นำมาเล่าช่วงเริ่มต้นสนทนาของปีใหม่กับวัย ๘๑ ปี วัยนี้ที่อาจมีใครคิดว่าชราภาพแล้ว แต่มิใช่สำหรับอาจารย์วิจารณ์ที่ยังคงสดใสและแจ่มใสเป็นที่สุด ทั้งคำพูด สีหน้า แววตา รวมถึงการถ่ายทอดประสบการณ์ การแทรกคำถามตามด้วยการตบมุกจริงในชีวิตแบบแน่นปึ๊กและเร็วแรง ไม่ต่างจากครั้งก่อน ๆ ของช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมาเลย
หลังจากอาจารย์ที่ปรึกษาใหญ่หยิบหนังสือ "ปัญญาอลวน" ออกมาจากกระเป๋า พร้อมเปิดแอปบันทึกเสียงโทรศัพท์ แล้วจึงตามด้วยกระดาษขิ้นเล็กกับปากกาพร้อมจด จึงได้คำตอบสำคัญประการหนึ่งเรื่องจิตวิญญาณการจัดการความรู้ในแต่ละวันโดยอัตโนมัติ
"อาจารย์บันทึกสิ่งที่ได้รับรู้ทุกช่วงเวลาอย่างละเอียดทั้งเสียง ข้อความ และความทรงจำ" แบบนี้นี่เอง
เช่นเดียวกับที่บันทึกเล่าเรื่องทุกอริยาบทของการเรียนรู้จากคอร์สการรักษาร่างกายและจิตใจที่ได้เผยแพร่ออกไป เหล่าลูกศิษย์ลูกหาจึงมีโอกาสศึกษาไปพร้อมด้วย ราวกับได้เข้าไปร่วมใช้ชีวิตอยู่ข้างอาจารย์ในวันสำคัญนั้น ๆ ด้วยเลย ละเอียดจริงแท้ ...
บนโต๊ะอาหารกลางวันระหว่างการตอบคำถามที่อาจารย์ตระเตรียมมา สลับกับการก้มหน้าบันทึกลงกระดาษชิ้นน้อย ๆ ชิ้นนั้น เกิดประเด็นผุดขึ้นรายทางมากหัวข้อให้ถกถามตามตอบเพิ่มกัน พลันจบทุกประเด็น ทุกคำถาม ทุกความห่วงใยจากผู้ใหญ่ของประเทศท่านนี้แล้ว จึงมาถึงช่วงไฮไลท์เก็บเกี่ยวคำแนะนำ
ที่ปรึกษาใหญ่วัยต้นแปดสิบมีความเห็นต่อหนังสือ "ปัญญาอลวน" ด้วยประโยคคู่ที่ทำให้หูตาเบิกโพลงขึ้นอีกครั้งใหญ่
“หมกมุ่นกับการแก้ปัญหาหรือทางออก มากกว่าหมกมุ่นทำความเข้าใจปัญหา”
เปรี้ยง !
สองวรรคจบในตัวเต็มคาราเบล และนี่คือของฝากผลจากการอ่านหนังสือสารคดีสี่จดหมายเหตุ ๒๖๔ หน้า "ปัญญาอลวน" ที่ทั้งต้องพยายามแกะความหมายในหลายมิติ และเป็นการบ้านข้อใหม่เพื่อหาทางปรับใช้กับกิจกรรมและมโนกรรม วจีกรรม รวมถึงกายกรรมของตนเองให้ได้ด้วย ...
หลังจากวันสนทนา อาจารย์วิจารณ์เปรยเพิ่มไว้ในบันทึก blog ประจำตัวให้ได้ศึกษาเพิ่มอีกหนึ่งส่วนว่า
"ผมก็ได้เรียนรู้ด้านลบของวงการเทคโนโลยีไทยที่มีกิจการเป็นแสนล้าน ผลประโยชน์มากมาย ความขัดแย้งก็มากตามไปด้วย รวมทั้งได้เรียนรู้ความไม่ต่อเนื่องของนโยบายด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทย เป็นอุปสรรคต่อการทำงานพัฒนาระบบ"
เช่นทุกรอบการพบกันแต่ละครั้ง ครั้นจะย้อนนับมุก นับเกร็ด นับมุมมองใหม่ ฯลฯ นับไม่ใคร่ได้ เพราะมากมายมากจนเกินจะจดจำ รอบนี้เช่นกัน ร่วมสามชั่วโมงอาหารกลางวันครั้งที่หกจากการพบปะกันนับสิบรอบแล้วนับตั้งแต่งานชิ้นแรกสมัยพ.ศ.๒๕๔๘ ("รหัสเทอร์โบ" 2005) วันนี้ผู้ฟังรุ่นลูกยังคนตามผู้สูงวัยรุ่นพ่อไม่ใคร่ทันอยู่ดี แถมอาจารย์ยังปล่อยเกร็ดสุดท้ายหน้าบันไดเลื่อนเพิ่มให้อีกหนึ่ง ตบมุกอลังการก่อนอำลาว่า
"คนเราต้องทำให้ตนเองต้องเผชิญสภาพที่ไม่สบายแบบมีความเจ็บปวดทุกวัน ดังตัวอย่างผมยกดัมเบลจนหมดแรงยกไม่ขึ้น ก็เท่ากับวันนั้นได้ทำให้ตนเองได้มีชีวิตที่เจ็บปวด เอาไว้เตือนใจว่า ชีวิตคนเราย่อมต้องเผชิญความเจ็บปวดหรือความยากลำบาก"
ขณะยืนงงตรงหน้าบันไดฟังการปิดบทสนทนาร้านอาหารย่านลาดพร้าว เกิดความคิดแว๊บ ๆ แบบพิลึกโผล่ขึ้นมา เพราะหลังมื้ออาหารที่ยังไม่ได้รับคาเฟอีน เริ่มมีอาการสะลึมสะลือ จึงอยากหาทางลัดด้วยการ "ครอบครองปรปักษ์" อยากได้สมองของอาจารย์มาทดแทนของตนเองซะเลย (ฮา) ... เพื่อจะได้นำมาปรับใช้ทันทีกับภารกิจไอทีควอนตัมที่ยังไปไม่ถึงไหน แต่เมื่อกระตุกสติกลับสู่โลกความจริงได้แล้วจึงมั่นใจว่า มุกฝากสุดท้ายนี้คือการบ้านข้อใหม่ที่ใหญ่ ยาก หนัก และลึกซึ้งมากเป็นแน่ ต้องส่งผลให้อาจารย์ตรวจงานในปีต่อไปเช่นทุกครั้งด้วย เอาละสิ !
จึงเป็นอีกครั้งที่ร่ำลาด้วยโจทย์ประจำปีที่สุดแสนจะงงงวย ... มึนงงหลงทางอยู่หนึ่งเดือนเต็ม จากนั้นมีข้อความแจ้งมาเป็นทางการ เป็นบันทึกเรื่อง "เพื่อสังคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทย" บทความที่อาจารย์ได้สาธยายมุกการบ้านหน้าบันไดนั้นไว้ โดยเผื่อแผ่แด่สังคมทั่วไปพร้อมกันด้วยว่า
“ต้องมีชีวิตอยู่กับจิตวิทยาเชิงบวก ใช้ลบเป็นบวก ใช้ความเจ็บปวดเป็นพลังให้มีชีวิตที่มีประโยชน์ต่อไป”
“นักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทย ต้องมีกระบวนทัศน์นี้”
อาเมน ! สาธุ !
[ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ] ผู้ก่อตั้งและอดีตประธานสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
และก่อตั้งสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม
ที่ปรึกษา Q-Thai forum;
| คำนิยม "รหัสเทอร์โบ" 2005 (๒๕๔๙) | สนทนาสารานุกรมโทรคมนาคมไทย 2009 (๒๕๕๒) | สนทนาอภิธานศัพท์โทรคมฯ 2011 (๒๕๕๔) | คำนิยม "พัฒนาการการประชุมฯวิศวฯไฟฟ้าฯ" 2013 (๒๕๕๖) | สนทนาเยี่ยมเยียน "จัดการความรู้โทรคมนาคมไทย" 2014 (๒๕๕๗) | สนทนา "success story" 2015 (๒๕๕๘) | สนทนา “สามเหลี่ยมภูเขา” 2016 (๒๕๕๙) | สนทนา "จัดการความรู้" 2018 (๒๕๖๑) | สนทนาและวิพากษ์ "แดนทอง บรีน" 2019 (๒๕๖๒) | สนทนา "เป้าหมายเพื่อ User" 2020 (๒๕๖๓) |
(หนังสือ “ปัญญาอลวน” ๒๕๖๕ ฉบับอิเล็กทรอนิกส์สาธารณะ: free eBook)
#ปัญญาอลวน #สามทศวรรษรหัสเทอร์โบ #IEEEComSocThailand
สารคดีสี่จดหมายเหตุ “ปัญญาอลวน”
๑) สามทศวรรษรหัสเทอร์โบนวัตกรรมพลิกโลกข่าวสาร (ค.ศ. 1993 - 2023)
๔) หลายช่วงลมหายใจที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (ยุคที่สอง)
โดย IEEE ComSoc Thailand - สาขาไฟฟ้าสื่อสาร
สมาคมสถาบันวิศวกรไฟฟ้าและอีเลคโทรนิคแห่งประเทศไทย
53 ถนนจรัญสนิทวงศ์ บางกรวย นนทบุรี 11130
email: thailand_chapter@comsoc.org
Comentarios