Nobel (Quantum) Physicist 2022 | ทำไมไม่เชื่อ ‘พระเจ้า’ ล่ะ ? | Special Report| นักฟิสิกส์โนเบล ๒๕๖๕
“ไอแซค นิวตัน (Isaac Newton) เขียนหนังสือไว้หลายเล่ม แล้วก็เขียนเรื่องศาสนาไว้มากกว่าฟิสิกส์อีกด้วย เขาเป็นคนเคร่งศาสนาเลยล่ะ” - - (อันตัน ไซลิงเงอร์)
๐ คำถามกับความขลัง ๐ ณ ห้องโถงอาคารสถาปัตยกรรมเก่าแก่และขลังมากของมหาวิทยาลัยเวียนนา สถานที่สำคัญหนึ่งในแหล่งสร้างความรู้อารยธรรมของยุโรปตอนกลาง เมื่อถึงปี ค.ศ. 2008 มีบุคลากรรวมถึงศิษย์เก่าของที่นี่ได้รับรางวัลโนเบลรวมทุกสาขาแล้วจำนวนถึง ๑๕ คน มุมเด่นของอาคารนี้มีนิทรรศการป้ายเกียรติยศสรุปผลงานของ ๙ บุคคลสำคัญผู้เกี่ยวพันกับมหาวิทยาลัยผู้ได้รับรางวัลโนเบลติดติดตั้งแสดงไว้อย่างสมภาคภูมิ
หนึ่งในกลุ่มภาพบุคคลสำคัญเหล่านั้นมี 'เออร์วิน ชโรดิงเงอร์ (Erwin Schrödinger)' เจ้าของผลงานทฤษฎีอะตอมบันลือโลกผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ปี ค.ศ.1933 ในวัยหนุ่มอายุเพียงต้นสามสิบ ส่วนผลงานอันเป็นที่จดจำและอ้างถึงกันบ่อยคือ 'หลักความไม่แน่นอน (Uncertainty Principle)' อีกหนึ่งชิ้นสำคัญอันต่อยอดมาถึง “รหัสลับควอนตัม (quantum cryptogtaphy)” หรือวิทยาการความปลอดภัยข้อมูลร่วมกับโลกไอทียุค 5G ที่ยังคงถกเถียงกันอย่างหนักในวงการวิชาการก็อยู่บนหลักพื้นฐานนี้เช่นกัน นอกจากป้ายภาพแล้วยังมีหุ่นปั้นเก่าแก่ครึ่งตัวหรือส่วนศรีษะของปราชญ์รุ่นปู่ทวดตั้งเรียงรายให้รำลึกมากมาย มากตามความเก่าแก่ของมหาวิทยาลัยที่อายุเกินหกร้อยห้าสิบปีแล้ว สามารถย้อนเวลาศึกษาเรื่องราวคนดังได้กับทั้ง 'คริสเตียน ดอปเปอร์' (Christian Doppler) ผู้ค้นพบหลักการความถี่ใช้อธิบายทั้งการเคลื่อนที่ขยายตัวออกของเอกภพกับกลุ่มกาซโอไรออนเนบิวลา (บริเวณกลุ่มดาวนายพรานหรือดาวเต่าดาวไถ) มีการต่อยอดมาถึงยุคโทรศัพท์เคลื่อนที่เพื่อใช้ปรับปรุงประสิทธิภาพสัญญาณขณะที่ใช้งานกับการเคลื่อนที่ไปด้วยความเร็วระดับต่าง ๆ กัน (Doppler effect) จึงนับถือกันว่าเป็นอีกหนึ่งนักวิทยาศาสตร์ชาวออสเตรียนที่สร้างคุณูปการให้กับโลกอย่างยิ่ง ขยับต่อมากับรูปปั้น 'ลุดวิก โบลทซ์มันน์ (Ludwig Boltzmann)' ชื่อที่อาจคุ้นเคยจาก “ค่าคงที่ของโบลทซ์มันน์” ในวิชาฟิสิกส์พื้นฐาน อัจฉริยะผู้นี้คือหนึ่งในบรรดานักวิทยาศาสตร์ด้านอะตอมของยุคศตวรรษก่อนหน้า รูปปั้นปรมาจารย์นอกสายวิทยาศาสตร์มีจัดแสดงอยู่ด้วยเช่นกัน อาทิ 'ซิกมัน ฟรอย (Sigmund Freud)' นักจิตวิทยาบรมครู
โดยรวมแล้วอาคารนี้อาจเปรียบได้กับศาลเจ้าแห่งความสำเร็จของโลกตะวันออกที่ปราศจากพิธีกรรมเช่นไหว้หรือบรวงสรวง ไม่ต้องลงรัก ปิดทอง เผาธูปจุดเทียนหรือวางขวดน้ำแดงตั้งถวาย ที่นี่ยังคงความขลังในตนเองยิ่งนัก อีกทั้ง เป็นสถานที่แห่งความภูมิใจและดลใจศิษย์ปัจจุบันเมื่อได้มาสัมผัส มนต์รังสีที่ได้รับอาจกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ให้ไปสู่การผลิตงานระดับโลกตามอย่างรุ่นทวดที่เคยสร้างอวดไว้ โลกตะวันตกเช่นที่ประเทศออสเตรียนี้พบเห็นการสรรเสริญปูชนียบุคคลผู้สร้างอารยธรรมยิ่งใหญ่ผ่านมากับทั้งเหรียญ ธนบัตร แสตมป์ หนังสือ ป้ายชื่อถนน อาคาร พิพิธภัณฑ์ ฯลฯ รวมถึงนิทรรศการถาวร ณ ห้องโถงของมหาวิทยาลัยแห่งเมืองหลวงนี้ ๐ เข้าใจควอนตัมกันอย่างไร ?
๐ "ความพัวพันควอนตัม (quantum entanglement)" ปรากฏการณ์เหนือสามัญสำนึก
การจัดแสดงรอบขอบอาคารออกแบบได้อย่างน่าทึ่งโดยนำทางผู้เข้าชมวนกลับมาหยุดอยู่ที่หน้ากลุ่มป้ายภาพผู้รับรางวัลโนเบลทั้งเก้าอีกครั้งก่อนลาจาก เป็นกุศโลบายร่ายคาถาให้ย้อนมายืนจ้องป้ายลำดับสิบอันแตกต่างและโดดเด่น แม้เป็นเพียงแผ่นใสว่างเปล่าแต่ราวกับมีเจ้าเข้าทรง เพราะเครื่องหมายคำถาม “?” ที่สถิตย์อยู่ใบ้ความหมายไว้ว่า
“ณ มหาวิทยาลัยเวียนนาแห่งนี้ ใครจะเป็นผู้ได้รับรางวัลโนเบลคนต่อไป ?” ในที่สุด สิบสี่ปีต่อมามีคำตอบแล้ว เพราะวันที่ 4 ตุลาคม ค.ศ. 2022 ศาสตราจารย์ อันตัน ไซลิงเงอร์ (Anton Zeilinger) บุรุษวัยเจ็ดสิบเจ็ดปีผู้เป็นทั้งศิษย์เก่าและยังคงทำงานอยู่ที่นี่ ได้รับประกาศให้เป็นหนึ่งในสามของผู้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์จากผลงานการทดลองด้าน “ความพัวพันเชิงควอนตัม (quantum entanglement)” ศาสตร์ที่เกิดขึ้นมาเนิ่นนานแล้วแต่ยังขึ้นชื่อว่าคงความสับสนงงงวยไปทั่ว ทั้งที่เป็นเรื่องจริงมีการประยุกต์ใช้งานได้จริงกลับพบทั่วไปว่ามีการนำชื่อปรากฏการณ์วิทยาศาสตร์นี้ไปอ้างโหนกับความเชื่อส่วนตนบ้าง ดัดแปลงแต่งเติมจนกลายเป็นวิทยาศาสตร์เทียมมิใช่น้อย โยงเข้าหาศาสนาเรียกศรัทธาก็มากมาย จึงมั่นใจได้ว่านิทรรศการผลงานของศาสตราจารย์คนดังกับคำว่าควอนตัมที่เพิ่มเข้ามาในหอเกียรติยศแห่งนี้ จะแย่งซีนการตั้งคำถามแข่งกับป้ายความขลังเดิมที่มีอยู่ก่อนนั้นอย่างแน่นอน
"พลันที่เครื่องหมายคำถามทรงความขลังมีคำตอบ
เป็นเวลาเดียวกันที่ได้ให้กำเนิดคำถามเดิมนั้นต่ออีกครั้ง"
๐ บุคคลแห่งปีไอทีควอนตัม 2022 | ตามรอยผลงานวิทยาศาสตร์โลก (Anton Zeilinger) ๐ Nobel Prize lecture: Anton Zeilinger, Nobel Prize in Physics 2022
๐ ความพัวพันทางโลกและทางธรรม ๐ ศาสตราจารย์ไซลิงเงอร์ นักวิทยาศาสตร์ชาวออสเตรียนวัยเกือบแปดทศวรรษผู้สงบสุขุม เคยเปิดห้องทำงานต้อนรับและให้คำแนะนำต่อวงการไอทีควอนตัมเมืองไทยว่าควร “ทำง่าย ๆ (simple, do it simple)” เมื่อปีค.ศ.2008 เป็นนักฟิสิกส์แนวปฏิบัติ (experimental physicist) เล่นกับอนุภาคนิวตรอน (neutron) ตั้งแต่สมัยยังเป็นนักศึกษา ต่อมาบุกเบิกการทดลองด้านอนุภาคแสง (photon) โดยเฉพาะการสร้างปรากฏการณ์ควอนตัมพัวพันของโฟตอน (ปกหนังสือ: รูปแสงสีเขียวสองวงตัดทับกัน) จนถึงเป็นเจ้าตำรับและหัวหน้าโครงการรหัสลับควอนตัมยุโรป ร่วมงานกับศิษย์เก่าชาวจีนโครงการดาวเทียมควอนตัมดวงแรกของโลกอีกด้วย รางวัลสรรเสริญนั้นมากมายเป็นปูชนียบุคคลของวงการมาอย่างยาวนาน จากพื้นฐานผลงานความพัวพันระดับอนุภาคมูลฐานดังกล่าวมีการนำไปต่อยอดสร้างเป็นเครื่องมืออุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์เพื่อใช้ค้นหาคำตอบลึก ๆ ของสรรพสิ่งในธรรมชาติข้ามสาขาได้อีกมาก เช่นการประยุกต์กับด้านชีววิทยา เป็นต้น ทั่วสารทิศจึงรู้จักว่าคือหนึ่งในปรมาจารย์แห่งท่วงทำนอง
"ความพัวพันเชิงควอนตัมของโลกทางวิทยาศาสตร์" ที่สำคัญ บุคคลผู้ค้นหาคำตอบของธรรมชาติที่สุดลึกล้ำนี้เคยนั่งเสวนาบนเวทีเดียวกันกับองค์ดาไลลามะ (Dalai Lama) อีกหนึ่งปรมาจารย์ด้านการค้นหาความจริงอันเที่ยงแท้แม้ต่างวิถี สังคมโลกทั่วไปรู้จักท่านผู้นี้ในแนว
"ความพัวพันเชิงจิตวิญญาณของโลกทางธรรม"
ผู้หนึ่งมุ่งทางธรรมะปฏิบัติเพื่อมรรคผลตลอดทั้งชีวิต อีกหนึ่งคือผู้เดินบนเส้นทางโลกวิทยาศาสตร์เข้มข้นพิสูจน์หาคำตอบในห้องทดลอง ขณะที่ดาไลลามะนิพนธ์ “จักรวาลในหนึ่งอะตอม (The universe in a single atom)” ศาสตราจารย์ไซลิงเงอร์ได้ตีพิมพ์ผลงานระดับอนุภาคมากมายรวมทั้งรูปถ่ายวงแหวนความพัวพันหรือควอนตัมนั้นให้ชาวโลกได้ชมกันมาแล้ว เมื่อทั้งคู่ได้พบกันจึงเป็นการเดินทางมาบรรจบของความศรัทธาแม้ต่างวิธีแต่มีปลายทางเดียวนั่นคือ แก่นแท้ของความจริงของธรรมชาติ องค์ดาไลลามะเคยเยือนห้องปฏิบัติการฟิสิกส์ควอนตัมของศาสตราจารย์ออสเตรียนผู้นี้และเปรยว่า "เป็นคนสงบ มีเอกลักษณ์" เมื่อโอกาสอำนวยจะชอบคุยทั้งเรื่องควอนตัมกับพุทธศาสนาเพราะเห็นว่าทั้งสองหัวข้อนี้ปฏิเสธเรื่องราว
“วิสัยความเป็นจริงที่เป็นอิสระต่อกัน (independent objective reality)” การร่วมเวทีถ่ายทอดประสบการณ์จากเส้นทางชีวิตอันต่างอย่างยิ่งยวดแต่มีเป้าหมายกำจัด 'อวิชชา' คล้ายคลึงกันของทั้งสอง จึงเสมือนเป็นอีกมิติหนึ่งของความพัวพัน ฉันใด ...
๐ ขึ้นเวทีรับโนเบลสองครั้ง สร้างผลงานด้วยตาข้างเดียว ! ๐ โนเบลยังอาย เมื่อรางวัลไทยผู้ให้กลายเป็นผู้รับ (๑ & ๒) ๐ “วิทยาศาสตร์กับศาสนา” ความเหมือนหรือแตกต่าง ? ๐ โดยทั่วไป ชาวบ้านส่วนมากอาจศรัทธาในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พระเจ้า หรือศาสนาตามความเชื่อใดที่มีมาก่อนอย่างยาวนาน ซึ่งแน่นอนว่าคุ้นเคยกว่าเรื่องราวทางวิทยาศาสตร์ที่เคยได้ยินมาบ้างและอาจเข้าใจได้ยากยิ่งนัก กระนั้น จะเป็นเรื่องง่ายมากที่เขาเหล่านั้นจะตกอยู่ท่ามกลางกระแสสังคมของความพยายามรวบเอาสองเรื่องนี้เข้ามาหากันเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะตนใด ๆ และส่วนใหญ่มักพบว่าเป็นการยกเอาวิทยาศาสตร์โยงไปสนับสนุนความเชื่อดั้งเดิมของตนเป็นหลัก การค้นพบวิทยาการทางโลกใดที่ดูเด่นเป็นสำคัญจึงมักถูกอ้างว่าคือสิ่งที่เป็นไปตามศาสนาหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ศรัทธาอยู่นั้นบัญญัติไว้ก่อนแล้ว มีทั้งอธิบายด้วยจินตนาการของตนเองบ้าง อิงคำของสาวกศาสนาผู้โด่งดังที่ได้ตีความหรือดัดแปลงแต่งเติมกันต่อ ๆ มาบ้าง หรือรับรู้จากสารพันสื่อที่ปรากฏในสังคมทั้งหนังสือ บทความ คลิปวีดีโอ การบรรยาย หลักสูตรค่ายฝึกสมาธิและจิตใจ ฯลฯ โดยทั้งหลายทั้งปวงนั้นมักพ่วงเอาสารพันคำของโลกวิทยาศาสตร์ไปประกอบให้ดูขลัง อาทิ อ้างอิง “นาซา (NASA)” หรือชื่อเสียงที่ยิ่งใหญ่ของ “ไอน์สไตน์ (Einstein)” จนในที่สุดได้มาถึงการโหน “ควอนตัม” คำสำคัญแห่งยุคนี้กันแล้ว การอ้างเหมารวมเหล่านั้นพบเป้าประสงค์ทางสังคมได้หลากหลาย ทั้งเพื่อเพิ่มมิตรสหาย ขายหนังสือ เรียกยอดไลก์ ใฝ่หาสาวกหรือจำนวนผู้ติดตาม ฯลฯ
ดูก่อน ! ท่านทั้งหลาย ... แต่ละศาสนาจะกำเนิดมาหลายพันปีดำรงอยู่ได้ด้วยตนเองมาอย่างยาวนาน ส่วนกลศาสตร์ควอนตัมอายุเพิ่งใกล้ครบหนึ่งร้อยปีแรกเท่านั้น (ค.ศ.1925 - 2025) ใยเล่าเหล่าสาวกหลากนิกายจึงตีความอ้างควอนตัมย้อนไปสนับสนุนความเชื่อของตนอย่างล้นหลาม ทั้งที่คัมภีร์ศาสนาหรือวจนของศาสดาหาได้เคยเอ่ยคำนี้แต่อย่างใด !
Q? : เมื่อสังคมทั่วไปเป็นดั่งนี้แล้ว บุคคลผู้ต้องการค้นหาคำตอบแก่นแท้ของชีวิตแต่มาติดกับดักการอ้างโหนวิทยาศาสตร์แนวที่ว่านั้น ควรต้องปรับตัวอย่างไร ?
A: ลองกลับด้านมารับรู้ย้อนทางจากนักฟิสิกส์ (ควอนตัม) ผู้ที่โลกให้การยอมรับอย่างแท้จริงดูบ้าง เขาเหล่านั้นเคยนำเสนอจากมุมมองวิทยาศาสตร์ที่ตนค้นพบแล้วโยงกลับไปยังความเชื่อหรือศาสนากันบ้างไหม หรือเคยเอ่ยกันว่าอย่างไร !
“บุคคลที่ถูกฝึกให้มีตรรกะความคิดแบบวิทยาศาสตร์มาบ้างมากหรือน้อยก็ตาม
จะรู้สึกแปลกแยกต่อความเชื่อทางศาสนาแบบดั้งเดิมที่เคยมองกันว่ามีผู้สร้างจักรวาลนี้ขึ้นมา
เนื่องจากจะใช้มาตรฐานในการคิดเป็นเหตุเป็นผลแบบวิทยาศาสตร์นั้นกับทุก ๆ เรื่อง” -- (ไอน์สไตน์)
ศาสตราจารย์ไซลิงเงอร์คนดังแห่งเวียนนาเจ้าของรางวัลโนเบลฟิสิกส์ ค.ศ.2022 ล่าสุดได้ให้สัมภาษณ์สำนักข่าว elpais (มิถุนายน ๒๕๖๖) มีคำถามโยงใยผลงานด้านวิทยาศาสตร์ร้อยเรียงไปกับมุมทางศาสนาที่น่าสนใจมาก เพราะพ่วงคำว่า "พระเจ้า (God)" อยู่ในการสนทนาไม่น้อย ซึ่งช่วงเวลาใกล้เคียงกันการประมูลจดหมายเก่าของหนึ่งในนักฟิสิกส์เอกคนดัง 'ไอน์สไตน์' เจ้าของรางวัลโนเบลรุ่นปู่สมัยหนึ่งร้อยปีก่อนหน้านี้พอดิบพอดี (ค.ศ.1922) กลับมาเป็นข่าวดังกับราคาที่ประมูลได้สูงถึง 125,000 ดอลลาร์สหรัฐฯหรือมากกว่าสี่ล้านบาท โดยเนื้อความในจดหมายนั้นไอน์สไตน์ตอบคำถามด้านศาสนาเป็นลายลักษณ์อักษรบนแนวทาง “วิทยาศาสตร์เข้ามาแทนที่แนวคิดเรื่องเกี่ยวกับพระเจ้า” !
จึงน่าสนใจไม่น้อยเช่นกันหากนำมาเทียบเคียงว่า นักวิทยาศาสตร์รุ่นหลานผู้เกี่ยวพันกับ “ความพัวพันควอนตัม” คำสำคัญที่ถูกสังคมความเชื่อต่าง ๆ ห้อยโหนมากยิ่งแห่งยุคนี้ จะให้คำตอบที่เหมือนหรือต่างกันเพียงไร ? รวมไปถึงกรณีที่นักวิทยาศาสตร์โนเบลรุ่นปู่อีกท่าน 'นีลส์ โบร์ (Niel Bohr)' เคยกล่าวไว้ทำนองว่า “เป็นความคิดที่ผิดพลาดนะ หากใช้ฟิสิกส์เพื่อหาคำตอบว่าธรรมชาติว่าเป็นอยู่คืออย่างไร เพราะมันใช้ได้แค่เป็นเครื่องมือเพียงการเอ่ยถึงธรรมชาติต่างหาก” ศาสตราจารย์ไซลิงเงอร์ จะเห็นด้วยหรือคิดต่าง การสัมภาษณ์เริ่มด้วยคำถามที่ว่า “คุณเป็นคริสต์ศาสนิกชน (Christian) ใช่ไหม ?” คำตอบของบุรุษวัยใกล้แปดสิบคือ “ใช่” เติบโตมาในนิกายคาทอลิกตามบิดาขณะที่ฝ่ายมารดาคือโปรเตสแตนต์ แล้วจึงตามด้วยคำถามคำตอบเด่นเป็นสารพันไฮไลท์ควรค่าแก่การศึกษา ดังนั้น หากใครเคยคิดไปเองและฟันธงก่อนแล้วว่าแนวทางร่วมหรือทางแยกของ 'วิทยาศาสตร์กับศาสนา' เป็นอย่างไร ลองหยุดพักสักครู่ ! ติดตามสิ่งที่บรมครูผู้นี้ให้คำตอบกันก่อน ดังนี้;
๐ คอลัมน์ "ควอนตัมกับความคิด" #QuantumThought ๐ Einstein’s Great Letter on Creation, the Bible, and the Nature of the God
๐ กาลามสูตร ๐ การแปลภาษาอังกฤษหรือเยอรมันถอดความหมายทางฟิสิกส์ให้เป็นสำนวนชาวบ้าน อาจมีน้ำหนักต่างจากต้นฉบับตามมุมมองของทั้งผู้แปลและผู้อ่าน ดังนั้น ควรศึกษาจากต้นฉบับด้วยตนเองประกอบด้วย*
ภาพรวมที่ปรากฏโดยทั่วไป บทสัมภาษณ์นักวิทย์คนดังของโลกทั้งหลายมักพบเห็นเป็นปกติคล้ายคลึงกัน ยามพูดเรื่องศาสนาจะไหลลื่นแต่มิเคยปรากฏการอ้างผลงานการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ใดว่ามาจากการดลบันดาลของพระเจ้าหรือมีบัญญัติไว้อยู่ในพระคัมภีร์มาก่อนแล้ว บรรยายที่ไหนอย่างไรทั้งวิทยาศาสตร์ที่ตนเชี่ยวชาญหรือแม้เรื่องความเชื่อที่มีมาแต่เยาว์วัย ขึ้นเวทีเสวนาจะเอื้อนเอ่ยทั้งสองหัวข้อนั้นได้โดยไม่ติดขัด ศาสตราจารย์ไซลิงเงอร์เช่นเดียวกัน เนื้อหาจากสารพันกิจกรรมมีบันทึกไว้ให้ศึกษาอยู่บนโลกอินเทอร์เน็ตอย่างมากมาย
และจากการบรรยายพิเศษในฐานะผู้รับรางวัลโนเบล (Nobel Prize lecture) เมื่อ 8 ธันวาคม ค.ศ.2022 บุรุษสูงวัยผู้นับถือศาสนาคริสต์ผู้นี้เพิ่งเอ่ยประโยคสำคัญไว้ว่า “แม้กระทั่งพระเจ้าเองก็ไม่ทราบว่ามีข่าวสารอะไรสถิตย์อยู่ในอนุภาค” โดยนำมาขยายความกับการสัมภาษณ์ครั้งหลังสุด มิถุนายน ค.ศ. 2023 เพิ่มต่อว่า
“พระเจ้าอาจทราบหรือก็เป็นไปได้ที่จะไม่ทราบ ซึ่งเราไม่อาจไปล่วงรู้ได้” สรุป ตลอดชีวิตการค้นหาคำตอบของธรรมชาติในระดับอนุภาคจากนิวตรอนมาถึงโฟตอนแสง เจ้าของรางวัลโนเบลรุ่นหลานได้สร้างผลงานด้านวิทยาศาสตร์เป็นที่ประจักษ์รวมถึงการเอ่ยถึง 'พระเจ้า' อีกมากมายครั้งด้วยนั้น ดูเหมือนจะไม่ต่างอะไรกับที่รุ่นปู่ไอน์สไตน์เคยเขียนจดหมายตอบคำถามไว้ก่อนหน้าแล้ว ...
“สิ่งนี้มิใช่การปฏิเสธความเชื่อทางศาสนา เป็นมุมหนึ่งของการใช้วิทยาศาสตร์เข้ามาแทนที่แนวคิดเรื่อง (พระเจ้า) ที่ว่านั้น”
(by OQC academy)
(คอลัมน์เก่า) ศาสตราจารย์อันตัน ไซลิงเงอร์
กาลามสูตร 'พิสูจน์ด้วยตนเอง'
Comments