top of page
QICTechFACTcheckLoGoWhite-2021.jpg
รูปภาพนักเขียนK Sripimanwat

(Introduction) | 100th & 50th Anniversary: International and Thai Year of Quantum S&T | หนึ่งร้อยปีควอนตัมโลก ครึ่งศตวรรษควอนตัมไทย พ.ศ. ๒๕๖๘ | #IYQ2025 & #ThaiYQ2025


Message from IEEE Thailand Section Quantum IT group


เมื่อวันที่ ๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๗ องค์การสหประชาชาติได้ประกาศให้ ปีค.ศ.2025 เป็นปีสากลแห่งวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควอนตัม (IYQ) โดยตามประกาศนี้ ปีแห่งควอนตัมจะได้รับการเฉลิมฉลองทั่วโลกผ่านกิจกรรมต่างๆ ทุกระดับเพื่อเพิ่มการตระหนักรู้ของสาธารณชนถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์ควอนตัมและการประยุกต์ใช้งานทั่วไป โดยการเลือกเป็นปีสากลนี้เพื่อรำลึกถึงการครบรอบ ๑๐๐ ปีนับตั้งแต่การเริ่มพัฒนาทฤษฎีกลศาสตร์ควอนตัมพื้นฐานเพื่อให้ทุกภาคส่วนได้ร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้และเฉลิมฉลองกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสาขาควอนตัมกันตลอดทั้งปี ค.ศ.2025


 

๐ ประวัติความเป็นมา ๐

เริ่มจากการตระหนักถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์สาขาที่เกี่ยวข้องกับวิทยาการควอนตัมและความจำเป็นในการเผยแพร่ความรู้สู่สังคมเกี่ยวกับผลกระทบทั้งในอดีตที่ผ่านมาและที่คาดการณ์ในอนาคต หน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์ระดับชาติจำนวนมากจึงได้รวมตัวกันสนับสนุนให้มีการประกาศเป็นปีสากลแห่งการครบรอบ ๑๐๐ ปีแห่งทฤษฎีควอนตัมโดยองค์การสหประชาชาติ หน่วยงานสำคัญที่ร่วมสนับสนุนดังกล่าว อาทิ สหภาพวิทยาศาสตร์ฟิสิกส์พื้นฐานและการประยุกต์นานาชาติ (IUPAP) สหภาพเคมีพื้นฐานและการประยุกต์นานาชาติ (IUPAC) สหภาพผลึกศาสตร์นานาชาติ (IUCr) และสหภาพประวัติศาสตร์และปรัชญาของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนานาชาติ (IUHPST) เป็นต้น โดยประเทศเม็กซิโกเป็นผู้นำเสนอเมื่อเดือนพฤษภาคม ค.ศ.2023 คณะกรรมการบริหารขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก - UNESCO) จึงได้สนับสนุนมติที่เสนอให้มีการประกาศเป็นปีสากลดังกล่าวนี้อย่างเป็นทางการโดยได้รับการรับรองจากการประชุมใหญ่ของยูเนสโกเมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.2023 มีการร่วมลงชื่อสนับสนุนเกือบ 60 ประเทศ ต่อมาเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2024 ประเทศกานาได้นำเสนอร่างมติการประกาศปีสากลแห่งควอนตัมต่อที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ซึ่งได้รับการสนับสนุนเพิ่มจากอีกหกประเทศ กระทั่ง วันที่ ๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๗ ที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติจึงได้ประกาศอย่างเป็นทางการให้ปี ค.ศ.2025 เป็นปีสากลแห่งวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควอนตัมดังกล่าว


๐ กิจกรรมเป้าหมาย ๐ 

การประกาศของสหประชาชาติเป็นการส่งสัญญาณให้บุคคลากร โรงเรียน สถาบัน หรือรัฐบาลทั่วโลกได้ใช้ปี ค.ศ.2025 เป็นโอกาสในการเพิ่มการตระหนักรู้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสาขาควอนตัมดังเป้าหมาย โดยคณะกรรมการกำกับดูแล IYQ 2025 วางแผนโครงการและกิจกรรมระดับโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งกิจกรรมที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่มิเคยมีโอกาสได้รับรู้ถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสาขาควอนตัมนี้มาก่อน


เชิญร่วมกันใช้วิทยาศาสตร์สาขาควอนตัมนี้เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงชีวิต ปีสากลนี้เป็นโอกาสให้เยาวชนและผู้คนที่สนใจทุกช่วงวัยได้มีโอกาสเรียนรู้วิทยาศาสตร์ควอนตัมสาขาที่เป็นพื้นหลังของโลกทางกายภาพต่าง ๆ รอบตัว เพื่อขับเคลื่อนไปสู่นวัตกรรมทางเทคโนโลยี ส่งผลต่อการกำหนดนโยบายรัฐฯให้มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของสังคมโลกและส่งผลต่อศิลปะและวัฒนธรรมไปด้วยกัน -- “๑๐๐ ปีควอนตัมเป็นเพียงจุดเริ่มต้น” 


 

วิทยาการสาขาควอนตัมปรากฏตัวในประเทศไทยมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๘ หลังจากแรกกำเนิดที่ทวีปยุโรปกว่าห้าสิบปี (ค.ศ.1925) โดยเริ่มต้นขึ้นที่ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อมามีการเรียนการสอนเพิ่มขึ้นกับมหาวิทยาลัยหลักของประเทศทั้งส่วนกลางและภูมิภาคหลัก (เชียงใหม่ ขอนแก่น สงขลา) และกระจายสู่หลักสูตรการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ด้านที่เกี่ยวข้องทั่วประเทศในเวลาต่อมา วิชาการสาขาสำคัญนี้จึงมีอายุครบรอบครึ่งศตวรรษของการมาถึงประเทศไทยในปี พ.ศ. ๒๕๖๘ นี้

ขณะที่วิทยาการไอซีทีเชิงควอนตัมหรือการนำไปประยุกต์เริ่มสร้างและสะสมองค์ความรู้เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๗ ซึ่งล่าช้ากว่าต้นกำเนิดไปถึงสามสิบปี (หลังจากที่ ริชาร์ด ฟายน์แมน (Richard Feynman) นำเสนอแนวคิดในงานประชุมวิชาการด้านการคำนวณเชิงฟิสิกส์ (the Physics of Computation Conference) เมื่อวันที่ ๖​ - ๘ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๒๔ สาขาไอทีแห่งอนาคตสาขาใหม่นี้จึงได้ถือกำเนิดและมีพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่อง) โดยพันธมิตรวิชาการจากกลุ่มวิจัยสารสนเทศเชิงควอนตัมไทยได้ร่วมกันเร่งติดตามความรู้และเผยแพร่สู่สาธารณะ โดยจัดกิจกรรมเพื่อรู้เท่าทันการมาถึงของไอซีทียุคใหม่ข้างต้นตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๗ โดยตระหนักว่า การผลักดันวิทยาการแห่งอนาคตเหล่านั้นให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ในประเทศ จำต้องสร้างทรัพยากรและโครงสร้างพื้นฐานรองรับรอบด้านให้ถึงจุดมวลวิกฤติทั้ง ๑) บุคลากรผู้เชี่ยวชาญ ๒) วิทยาการก้าวทันโลก ๓) งบประมาณ และ ๔) นโยบายที่เกี่ยวข้อง กระนั้น แม้เป้าหมายดังกล่าวยังคงห่างไกลสำหรับประเทศกำลังพัฒนาอันเป็นปกติวิสัย หากการรวมกลุ่มวิชาการสาธารณะเข้มแข็งจะยังคงสามารถพัฒนาอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญคือ ๕) “องค์ความรู้สาธารณะ” เองได้ ที่ผ่านมากลุ่มฯ จึงได้ดำเนินกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยสร้างสรรค์ผลผลิตสื่อสี่ระดับขั้นสำหรับกลุ่มเป้าหมายทั้งด้านนโยบาย วงการวิชาการ อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องและความรู้ทั่วไปสำหรับประชาชนในรูปแบบต่าง ๆ จำนวนมากตลอดระยะเวลาร่วมสองทศวรรษ 

และจากการประกาศของที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติให้ปี ค.ศ.2025 เป็นปีสากลแห่งวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควอนตัมดังกล่าว จึงเป็นโอกาสดีที่กิจกรรมของทั้งภาคการศึกษาหรือการเรียนการสอนวิชากลศาสตร์ควอนตัมโดยตัวแทนจากภาควิชาฟิสิกส์ฯ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และกลุ่มวิชาชีพด้านไอทีควอนตัมประยุกต์ข้างต้น ได้ใช้ปี ค.ศ.2025 จัดกิจกรรมเพิ่มการตระหนักรู้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสาขาควอนตัมดังกล่าวร่วมกับ IYQ 2025 สากลต่อไป -- ‘หนึ่งร้อยปีควอนตัมโลก ครึ่งศตวรรษควอนตัมไทย พ.ศ. ๒๕๖๘’


Happy New Year 2025 — #ThaiYQ2025 #IYQ2025


เกียรติศักดิ์ ศรีพิมานวัฒน์

(Keattisak Sripimanwat, D.Eng)

IEEE Thailand Section Quantum IT group & IEEE ComSoc Thailand

- Chapter chair 

 
“เรียนรู้ประวัติศาสตร์ เพื่ออนาคตที่ผิดพลาดน้อยลง”
 

The IEEE Thailand Section Quantum Information Technology Group (Quantum IT group), est.2023, supports members interested in the Quantum Information Technology (computing, communications, and sensing) field, by promoting various outreach activates to the public, human resource development and networking in the Quantum Information Technology Group.


กลุ่มไอทีควอนตัม สมาคม IEEE จัดตั้งขึ้นเมื่อพ.ศ.๒๕๖๖ “เพิ่มโอกาสอนาคต ลดความเสี่ยงควอนตัมลวง พ่วงเสริมภูมิคุ้มกันภัยคุกคามระบบไอที” - ด้วยการบริหารจัดการความรู้ต่อเนื่องกว่าสองทศวรรษ สู่บริการวิชาการสาธารณะครบวงจรด้านคำปรึกษา ประเมินความเสี่ยง พัฒนาบุคลากรและฝึกอบรมด้านการสื่อสารปลอดภัยเชิงควอนตัมกับเป้าหมายการพัฒนาองค์ต้นแบบและการขยายผล เพื่อสังคมไทยมีความรู้ความเข้าใจ ตระหนักต่อเทคโนโลยีสารสนเทศเชิงควอนตัมพร้อมไปกับความก้าวหน้าของประชาคมโลก


สาขาไฟฟ้าสื่อสาร ไอทริเปิลอี สาขาประเทศไทย 

(IEEE Communications Society - Thailand Chapter)

จัดตั้งข้ึนตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๗ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาวิชาการเทคโนโลยีด้านวิศวกรรมไฟฟ้าสื่อสาร จัดประชุม สัมมนา เผยแพร่ความรู้ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งส่งเสริมวิชาชีพ สร้างโอกาสและเวทีสําหรับแลกเปลี่ยนความรู้ นำเสนอผลงานวิชาการ ผลงานวิจัยและอื่นๆ รวมทั้งร่วมมือกับไอทริเปิลอีระดับภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกและท่ัวโลกเพื่อจัดกิจกรรมร่วมกัน


สมาคมสถาบันวิศวกรไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์หรือไอทริเปิลอี 

(Institute of Electrical and Electronics Engineers: IEEE)

สถาบันวิชาชีพ (Professional Organization) ระดับนานาชาติท่ีไม่หวังผลกําไร ทําหน้าที่ส่งเสริม สนับสนุนและเป็น แหล่งให้ความรู้และข้อมูลเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๖ (ค.ศ.1963) เกิดจากการรวมตัวกัน ของสองสมาคมคือ สมาคมสถาบันวิศวกรไฟฟ้าแห่งประเทศสหรัฐอเมริกาหรือเอไออีอี (American Institute of Electrical Engineers: AIEE) และ สมาคมสถาบันวิศวกรวิทยุหรือไออาร์อี (Institute of Radio Engineers: IRE) (สาขาประเทศไทย)

 

Disclaimer:

- a public serving project by volunteers no conflict of interest & none of personal agenda involved

organized continuously since IYL2015

 

Updated: Nov 27, 2024

Comments


FEATURED POSTS

FOLLOW US

  • Facebook Long Shadow

 

DROP US A LINE 

Your details were sent successfully!

  • Facebook page
bottom of page