top of page
QICTechFACTcheckLoGoWhite-2021.jpg
รูปภาพนักเขียนK Sripimanwat

EP9/9 |“เข้าใจ”ควอนตัมกันอย่างไร ? | บทส่งท้าย

ข่าวสารมีค่า ‘สัมพัทธ์’ กับสภาพแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้น
มิใช่สิ่ง ‘สัมบูรณ์’ อุดมคติของธรรมชาติ

การจะสร้างความเข้าใจต่อสิ่งใดของมนุษย์อาจรับรู้สิ่งนั้นผ่านมาทางตา ลิ้น จมูก หู และกายสัมผัส โดยรับรู้แยกส่วนหรืออาจร่วมกันตามแต่กรณี ส่วนปรากฏการณ์เชิงควอนตัมจะไม่สามารถใช้ประสาทสัมผัสทั้งห้าที่มีนั้นเข้าถึงตรง ๆ ได้ จึงต้องรับรู้ผ่านอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือทางด้านวิทยาศาสตร์ เช่น เซ็นเซอร์หรือหน่วยตรวจจับประสิทธิภาพสูงทั้งหลายช่วยอ่านค่าตีผลออกมาแล้วนำไปใช้สร้างความคุ้นเคยทางอ้อม และสะสมความคุ้นเคยจากเล็กน้อยทยอยมากขึ้นจนนำไปสู่ความเข้าใจได้ในที่สุด แต่เนื่องจากสิ่งที่ทำหน้าที่แทนประสาทสัมผัสเหล่านั้นยังไม่มีให้ใช้งานกันอย่างเพียงพอยังไม่ปรากฏแวดล้อมอยู่โดยทั่วไป หากจะมัวตอบคําถามว่าควอนตัมคืออะไรเพียงถ่ายเดียวเพื่อให้ผู้รับคำตอบสร้างความเข้าใจจากเพียงคำพูด ตัวหนังสือ หรือแม้จะเป็นภาพถ่ายและวีดีโอที่จับภาพแสดงข่าวสารของปรากฏการณ์ธรรมชาติได้เพียงชั่วขณะใด ๆ นั้น คือภารกิจที่เป็นไปได้ยาก ดังนั้น ผู้ประสงค์ใคร่รู้ทั่วไปเมื่อสร้างความคุ้นเคยทางอ้อมดังที่บันทึกฉบับนี้สาธยายผ่านมาแล้ว จึงควรมองหาโอกาสความคุ้นเคยทางตรงกันต่อ เพื่อเป็นบันไดสู่ความเข้าใจในอนาคตด้วยตนเอง


ทั้งนี้ การจะสร้างความคุ้นเคยกับผลลัพธ์ปรากฏการณ์เชิงควอนตัมให้จงได้นั้น ขอยืมคำพระมาใช้อธิบายปิดท้ายด้วยว่าเป็นเรื่องของ “สันทิฏฐิโก” หรือการรู้ได้เฉพาะตน ความคุ้นเคยสู่ความเข้าใจได้ต่อเรื่องเกินขอบเขตที่ประสาททั้งห้าสัมผัสจะเข้าถึงได้เป็น “ปัญเจกบุคคล” ดังนั้น การที่มีผู้ที่คุ้นเคยดีแล้วนำมาบอกเล่าเปล่งเสียงให้ได้ยิน หรือผ่านตัวหนังสือที่พิมพ์มาให้อ่านจะช่วยได้ไม่มากนัก เมื่อความเข้าใจมีได้อย่างเชื่องช้าจากโอกาสการสร้างความคุ้นเคยที่มีน้อยนั้น พลันจะทำให้วิทยาศาสตร์เทียมหรือควอนตัมจำแลงเกิดแทรกขึ้นง่ายและเร็วกว่า เช่น กลายเป็นของขลังควอนตัมพิมพ์นิยม แปลงเป็นเรื่องจินตนาการจนถึงขั้นหลอกลวงขึ้นมาแทนที่ในสังคม

เมื่อยืมคำพระมาใช้แล้วจึงขอยืมต่ออีกสองคำคือ “อกาลิโก” และ “เอหิปัสสิโก” (ธรรมคุณ ๖ ประการ) หมายความว่าเรื่องของคำควอนตัมก็มีอยู่อย่างนี้แบบนี้ แม้เวลาจะเคลื่อนผ่านเปลี่ยนไปนานเพียงไรจะคงอยู่ต่อไปในธรรมชาติ ท้าทายการไปพิสูจน์ศึกษาหาคำตอบ จึงขอชวนให้มาศึกษากันมาก ๆ มาหาทางสร้างความคุ้นเคย มาช่วยกันตอบคำถาม ร่วมตามของที่หาย ช่วยกันหงายของที่คว่ำ เชิญช่วยกันคิดช่วยลงมือทำว่าอย่างไรชาวบ้านทั่วไปจะได้ร่วมคุ้นเคยด้วย เพื่อนำพาไปสู่ความเข้าใจเรื่องราวของกลศาสตร์ควอนตัมแท้อันเป็นวิทยาศาสตร์นั้นได้ ... เช่นกัน


คำว่า “ควอนตัม” เริ่มรู้จักกันในเมืองไทยประมาณ ปี พ.ศ. 2518

หรือสี่สิบกว่าปีก่อนหน้า ทว่าประเมินมิได้เท่าใดแล้วที่ห่างไกลล้าหลังโลก

ชาวบ้านทั่วไปจนถึงผู้ใหญ่ผู้ดูแลนโยบายของประเทศ

ยังคงสาละวนอยู่กับคำถาม “ควอนตัมคืออะไร” เป็นปุจฉาหลัก


การที่ภาษาไทยหนึ่งเดียวในโลกสร้างหน่วยให้กับอนุภาคมูลฐาน

จนสังคมจินตนาการกลายเป็น“ตัว”จับต้องได้


อีกทั้งนักวิชาการ (ปลอม) สร้างงานควอนตัม (เทียม) ก็มีมากล้น

สื่อมวลชนไม่น้อยรายงานเทคโนโลยีควอนตัม (เพี้ยน) สร้างข่าวขาย


และผู้ใหญ่คนดีของบ้านเมืองดันข่าววิทยาศาสตร์เทียม

กระทั่งโหนอิงคำควอนตัมเพื่อให้ภาพลักษณ์ตนดูขลังพ่วงซ้ำด้วยอีก


ความรู้ความเข้าใจต่อกลศาสตร์ควอนตัมของจริง

จึงยังคง ... น่ากังวลยิ่ง ! ...

 

สำเนาจาก “เข้าใจ”ควอนตัมกันอย่างไร ?
ภาค ๑ - ความคุ้นเคย - ISBN : 978-616-572-644-3

สงวนลิขสิทธิ์ © พ.ศ. ๒๕๖๓ - copyright

(เพื่อการศึกษาสาธารณะเท่านั้น)

 

“เข้าใจ”ควอนตัมกันอย่างไร ? | (EP1-9)

 

๐ (คอลัมน์แนะนำ) ควอนตัมกับสิ่ง “มีชีวิต”vs“ไม่มีชีวิต” | Quantum Biology ๐

ชีววิทยาเชิงควอนตัม (Quantum Biology)

หมายถึงควอนตัมของ “ส่ิงมีชีวิต” แน่แท้หรือ ?


Comments


FEATURED POSTS

FOLLOW US

  • Facebook Long Shadow

 

DROP US A LINE 

Your details were sent successfully!

  • Facebook page
bottom of page