top of page
QICTechFACTcheckLoGoWhite-2021.jpg
รูปภาพนักเขียนK Sripimanwat

EP7/9 |“เข้าใจ”ควอนตัมกันอย่างไร ? | สร้างภูมิคุ้มกันวิทยาการลวง

“ตามข่าวเป็นประจำด้วยความชอบ ตั้งกรอบความจริงหลายสำนัก พักเรื่องมหัศจรรย์หรือฝันเฟื่อง เน้นเรื่องเหตุผลการตรวจสอบ ถามตอบกับวงการวิทยาศาสตร์”
ย้อนกลับไระหว่างทางที่จะช่วยหาโอกาสให้ผู้คนจำนวนมากได้มีโอกาสคุ้นเคยกับปรากฏการณ์พื้นฐานเชิงควอนตัมด้วยการแตะจับ สัมผัส สังเกต เฝ้าดูผล สังเกตได้นานผ่านสิ่งที่จับต้องได้บ้างในอนาคต จำเป็นต้องสื่อการสร้างความรู้ทั่วไปแนบพร้อมไปด้วยทั้งตัวหนังสือ ภาพ เสียง หรือสื่อทางอ้อมใด ๆ เพื่อจะช่วยให้มีทั้งพื้นฐานที่จำเป็นและเสริมแรงกระตุ้นความอยากไปคุ้นเคยจริงจังกันเองต่อ ที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ จะได้ปลูกภูมิคุ้มกันไปในตัวเพื่อต้านพิษควอนตัมปลอมทั้งที่ระบาดโดยตั้งใจหลอกลวงกันอยู่ จนถึงการเข้าใจผิดหรือจินตนาการเพ้อฝันไปแล้วกลายมาเป็นวิทยาศาสตร์เทียมซึ่งแพร่กระจายอย่างมากมายในประเทศรออยู่ก่อนแล้ว จึงควรมีแนวการเรียนรู้ฉบับชาวบ้านสังคมนอกขั้นเรียนร่วมประกอบไปพลางด้วย สรุปเคล็ดลับพื้นฐานเพื่อสร้างวัคซีนกระตุ้นภูมิดังกล่าวรวมได้ห้าข้อสำคัญ ดังนี้

สรุปข่าวประจำปี

การรวมข่าวหมวดวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมักจะพบเห็นได้ทุกช่วงท้ายปีจากหลากหลายสำนัก ด้านการประยุกต์กลศาสตร์ควอนตัมนี้ทยอยปรากฏมากขึ้นโดยลำดับหลังจากที่รหัสลับและคอมพิวเตอร์ควอนตัมปรากฏตัวในโลกอุตสาหกรรมจริงจังเป็นต้นมา จึงชวนให้เริ่มลองคุ้นเคยกับคำดังแห่งยุคผ่านสรุปข่าวไอทีเฉพาะด้านดังกล่าวแล้วตามต่อด้วยตนเองทุกปีต่อเนื่องไป อาจเป็นอีกแนวทางอ้อมหนึ่งที่จะได้คุ้นเคยแล้วสะสมจากข่าวพัฒนาการด้านปลายน้ำของเทคโนโลยีใหม่ ๆ หรือจากการประยุกต์ใช้งานเรื่องเทคโนโลยีควอนตัมจริงเหล่านั้น

เช่น ปรากฏมีข่าวใหญ่เมื่อท้ายปี พ.ศ. 2558 โดยบริษัทกูเกิล (Google) ออกมายืนยันให้กับเครื่องแอนนิลลิง (annealing) หรือเครื่องคำนวณเชิงควอนตัมประเภทหนึ่งผลิตโดยบริษัทดีเวฟ (D-Wave) ประเทศแคนาดา โดยหลังจากถกเถียงกันมายาวนานตั้งแต่ออกจำหน่ายสองปีก่อนหน้าว่าใช่ผลจากปรากฏการณ์ควอนตัมจริงหรือเปล่า กูเกิลแจงว่าเจ้าเครื่องนี้กับงานเฉพาะกิจเมื่อเทียบกับคอมพิวเตอร์ทั่วไปมีความเร็วในการประมวลผลมากกว่าถึง 100 ล้านเท่า ตกใจกันถ้วนหน้า ! จำนวนมหาศาลเท่านั้นจึงเป็นข่าวแห่งปีกับเครื่องคำนวณที่ใช้หลักการการทับซ้อนกันของสถานะทางควอนตัมมาสร้างงานคำนวณความเร็วสูงยิ่งยวด

ปีถัดมา พ.ศ. 2559 ข่าวดาวเทียมควอนตัมจีนขึ้นสู่วงโคจรเป็นข่าวดังสุด ๆ แห่งปี กรณีดาวเทียมเฉพาะกิจนี้เป็นเรื่องของวัตถุท้องฟ้าที่สร้างโฟตอนแสงที่มีความพัวพันแล้วปล่อยลงมาบนโลกสองแห่งเพื่องานการเข้ารหัสลับให้กับการสื่อสารหลัก มิได้ใช้เพื่อสื่อสารข้อมูลปกติใดตามที่เข้าใจผิดกันและพบเป็นข่าวปลอมเพิ่มต่อกันไปเองอีกมาก ดวงดาวส่องโฟตอนแสงแรกนี้เน้นการพัฒนาเทคนิคและบุคลากร

ส่วนปี พ.ศ. 2560 บริษัทไอบีเอ็มแถลงสุดยอดข่าวคอมพิวเตอร์ควอนตัมพัฒนามาถึงระดับที่เหนือความสามารถของเครื่องคำนวณทั่วไปได้แล้ว ณ 50 คิวบิต หรือจำนวนที่บอกถึงศักยภาพของเครื่องคำนวณ โดยระดับที่ 49-50 คิวบิตนี้นั้นหมายความว่าไม่มีเครื่องคำนวณใดในโลกยุคไอทีปกติจะสามารถใช้เพื่อวัดหรือทดสอบคุณสมบัติว่าคอมพิวเตอร์พันธุ์ใหม่ทำงานได้ดีจริงขนาดไหน เนื่องจากว่าเลยขอบเขตและศักยภาพเครื่องคำนวณที่มีอยู่ไปหมดแล้ว ต่อไปจึงต้องวัดผลตนเอง !

ปี พ.ศ. 2561 สุดยอดข่าวประจำปีคือกรณีหน่วยประมวลผลควอนตัมของบริษัทกูเกิลขยับในห้องปฏิบัติการต่อไปที่ 72 คิวบิต และเป็นปีที่โลกได้เข้าสู่ยุคสงครามการแข่งขันด้านศักยภาพที่จะสร้างงานสร้างความหวังใหม่ให้กับสังคมมนุษย์ได้อีกครั้งใหญ่กับการประกาศ “การปฏิวัติควอนตัมโลกครั้งที่สอง” ของทีมยุโรป

ท้ายปี พ.ศ. 2562 บริษัทกูเกิลแถลงข่าวชิปควอนตัม (Sycamore 54 คิวบิต) มาถึงจุดที่มีความเร็วจัดเหนือคอมพิวเตอร์ทั่วไป (quantum supremacy) ทดสอบบางงานได้ในสามนาทีกว่า ขณะที่หากใช้ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ปกติจะเล่นเป็นหมื่นปีทีเดียว ทว่า บริษัทไอบีเอ็มได้แย้งกรณีเดียวกันนั้นว่าไม่จริง โจทย์คำนวณที่กูเกิลแจ้งมาเครื่องคำนวณที่มีอยู่ของบริษัทไอบีเอ็มทำได้ในเวลาแค่สามวันครึ่งเอง


ตรวจสอบข่าว

ระหว่างการบริโภคข่าวสารด้านไอทีควอนตัมที่สามารถศึกษาหาข่าวได้จากทั้งอินเทอร์เน็ต หนังสือพิมพ์ หรือสำนักข่าววิทยุโทรทัศน์หลายแห่งทั้งของต่างประเทศและในเมืองไทยเอง กระนั้น ก็อาจได้พบเห็นข่าวย่อยระหว่างปีที่ดูแปลกพิลึกจนถึงข่าวควอนตัมปลอม ซึ่งมิใช่เพียงแค่การส่งต่อกันเองทางสื่อออนไลน์เท่านั้น แม้สำนักข่าวใหญ่โด่งดังยังมีโอกาสพลาดมากด้วยเช่นกันในการรายงานข่าวที่ได้คิดนึกไปเองโดยปราศจากการอ้างอิงที่มาของข่าวต้นทาง อาจคาดไม่ถึงกันว่าสำนักข่าวเก่าแก่ชื่อดังทั้งในและต่างประเทศเคยร่วมเป็นผู้สร้างข่าวปลอมโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์บ่อยครั้งแล้วด้วยกับหัวข้อไอทีใหม่นี้ อีกทั้งพยายามสร้างความขลังขึ้นเองต่อ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้ข่าวเรียกแขกหรือปั่นลูกค้าโฆษณา ปรากฏพบเห็นได้มากขึ้นเรื่อย ๆ จึงควรต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง

อาทิ กรณีข่าวดาวเทียมควอนตัมวงโคจรต่ำของประเทศจีน ข่าวปลอมได้ระบาดทั่วไปว่าเป็นดาวเทียมสื่อสารความเร็วสูงที่มาถ่ายภาพความชัดลึกสูงด้วยที่ภูเก็ตหรือเกาะพีพี (จากผู้ช่วยรัฐมนตรีไทยในอดีตนั่นก็ใช่ที่ร่วมเป็นอีกหนึ่งแหล่งข่าวปลอมระดับโลกเช่นกัน) หรือกรณีสำนักต่างประเทศรายงานการแข่งขันพัฒนาแสนยานุภาพด้านเทคโนโลยีควอนตัมระหว่างสหรัฐฯกับประเทศจีน (quantum arms race) แต่สื่อหลักในประเทศแต่งความว่าเป็นการสะสม“อาวุธควอนตัม” และแถลงข่าววิจัยวัสดุเชิงควอนตัมเพื่อทำแบตเตอรีคุณภาพสูง สื่อดังของไทยเล่นข่าวสร้างความขลังต่อเองต่างจากการแถลงไปไกลว่าคือ“พลังงานควอนตัม” เป็นต้น

ดังนั้น พึงต้องมีการตรวจสอบอย่างรอบคอบ โดยมีข้อสังเกตง่าย ๆ ที่ว่า ข่าวควอนตัมปลอมลักษณะนี้จะเหมือนกันการเล่นเกมบอกข่าวต่อ หากได้ตรวจสอบข่าวเดียวกันจากแหล่งอื่นทั้งจริงและที่ปลอมผสมด้วยจะทราบความแตกต่างได้โดยง่าย เนื่องจากยิ่งปลอมยิ่งต่างยิ่งแต่งเติมจึงเป็นข่าวถ่างห่างกันเองออกไปเรื่อย ๆ เมื่อส่งต่อสำเนาการเต้าข่าวเป็นทอดจะสังเกตได้ง่ายขึ้นตามเวลา เป็นต้น คาถาเพื่อตรวจสอบก่อนการบริโภคข่าวที่มีคำว่าควอนตัมมีไว้ให้ด้วยว่า “โอม ! รับข่าวเดียวกันจากหลายสำนักพร้อมกัน อาจแคล้วคลาดจากข่าวควอนตัมปลอม ... เพี้ยง !”


ข่าวจริงจะไม่อิงนิยายหรือความขลัง

เมื่อประสงค์จะเข้าใจเรื่องราวของคำว่าควอนตัมอันเป็นสาขาหนึ่งของวิทยาศาสตร์ วิธีการศึกษาหาความรู้จึงต้องอยู่บนพื้นฐานวิทยาศาสตร์ด้วย หากยังห่างไกลจากแหล่งความรู้หรือยังต้องเพิ่มพูนทักษะด้านวิทยาศาสตร์ให้มากขึ้น ระหว่างนั้นยามที่ต้องการพิจารณาให้เข้าใจข่าวใด ๆ จำต้องพักจากแนวทางนิยายวิทยาศาสตร์จินตนาการหรือการ์ตูน เพราะนั่นคือเหตุใหญ่ประการหนึ่งในการช่วยโหมกระพือข่าวปลอมหากเจือความฝันเฟื่องส่วนตนบวกเข้าไปกับเนื้อหาข่าว (ราวกับการไปจินตนาการภาพในฝันแทนเด็กตาพิการตั้งแต่เกิดว่าเขาเหล่านั้นมีเหมือนกันกับของตนเอง) ทั้งจะทำให้ทั้งตนเองหลงทางและอาจกลายเป็นแหล่งขยายข่าวปลอมเสียเองอีกด้วย

สรุปวัคซีนนี้จะสร้างภูมิป้องเชื้อจินตนาการให้ได้เมื่อ “เน้นเฉพาะเรื่องที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน” ส่วนความเห็นหรือคาดการณ์อนาคตที่น่าเร้าใจจำต้องพักวางไว้ก่อนขณะที่บริโภคข่าวเทคโนโลยีเชิงควอนตัมทั้งหลาย วิทยาศาสตร์มีเหตุมีผล

ต้นกำเนิดของความรู้หรือข่าวพ่วงคำควอนตัมมีความสำคัญจริงในเนื้อหามักจะมีที่มาจากงานวิจัยของนักวิชาการ เนื่องจากเทคโนโลยีควอนตัมยังอยู่ในช่วงเริ่มแรก (emerging technology) หลายสำนักคาดการณ์เทคโนโลยีและนโยบายทั้งเอกชนและภาครัฐของประเทศต่าง ๆ ยังจัดให้เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาอีกมากแต่ควรจับตามองอย่างยิ่ง ดังนั้น ข่าวสารด้านนี้จะมีต้นกำเนิดที่ชัดเจน เช่น รายงานผลงานวิจัยสาธารณะ การแถลงข่าวของหน่วยงานหรือบริษัทที่มีการตรวจสอบรอบด้าน ผลงานวิชาการในวาสารที่มีการกลั่นกรองโดยผู้เชี่ยวชาญ เป็นต้น เรื่องราวทางวิทยาศาสตร์จึงตรวจสอบและอ้างอิงได้เสมอ การสืบค้นจะไม่ไปตีบตันที่คำว่า “จากแหล่งข่าว” “มีข่าวว่า” “คาดการณ์ต่อได้ว่า” “ตะลึง ...” “เรื่องจริงแต่ ...” “ไม่น่าเชื่อที่ ...” ฯลฯ ดังนั้น การแสวงหาความรู้สู่ความเข้าใจเรื่องราวข่าวจริงจะสามารถส่งต่อ ทำซ้ำ อ้างอิง เป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกันเสมอ

ส่วนควอนตัมเทียมมิได้เป็นวิทยาศาสตร์จะเน้นจุดอ่อนจากการที่ประสาทสัมผัสเข้าถึงปรากฏการณ์ตรงไม่ได้ นำไปสร้างมิติก่อภาพลักษณ์คู่ขนานที่จับต้องไม่ได้พ่วงเอาไว้ ท้ายสุดจะไปแนวปลุกเสกเป็นความขลังให้โด่งดังซึ่งมักมาพร้อมกับวลียอดฮิต“ไม่เชื่ออย่าลบหลู่” แล้วจึงขยายข่าวนั้น ๆ โดยไม่พยายามอธิบายรายละเอียดใด กระทั่งไหลต่อสู่ภาคสังคมผู้นิยมของขลังกลายเป็นสินค้า บริการ พ่วงชื่อบนหนังสือและเรื่องเล่าสร้างแรงบันดาลใจของไลฟ์โค้ช อีกทั้งจตุคามเหรียญควอนตัมราคาสามล้าน เครื่องตรวจสุขภาพควอนตัมลวงโลก บริการงานสารพันแต่หันมาใช้คำควอนตัมไปร่วมโฆษณา ตลอดจนสวดศีลธรรมนำทางแต่งคำพระแล้วอ้างควอนตัมบำบัดใจให้ด้วยก็มี หนักหนามาแล้วในสังคมทั่วไปกับเรื่องหลอกลวงหรือหลุดโลกแต่ยกวิทยาศาสตร์เทียมย้อนไปสนับสนุนหนทางส่วนตน


คำถาม(ฝากคิด):

“เมื่อตัดคำว่า ‘ควอนตัม’ ออกจากข่าวสารที่มีความเสี่ยงใด ๆ หากปราศจากคำนี้แล้วสิ่งนั้นได้กลายเป็นข่าว ผลงาน หรือสินค้าที่ลดคุณค่าลงไปทันทีทันใด พิจารณาว่านั่นคือเรื่องควอนตัมปลอม ได้หรือไม่ ?


เมื่อจนปัญญาควรปรึกษาผู้รู้

กรณีที่เดินเข้าไปถึงทางตันทั้งยังไม่เข้าใจ ไปต่อไม่ถูก หรือเข้าใจเพิ่มขึ้นบ้างแล้วต้องการหาทางใหม่เพิ่มแต่กลับยังวนเวียนอยู่นานจนเพิ่มความสงสัย การแก้ปัญหาด้วยการหารือกับนักวิชาการ นักวิจัย หรือผู้คลุกคลีอยู่ในวงการอาจเป็นหนทางช่วยผลักดันให้ขยับการเรียนรู้ต่อไปได้

กระนั้น ตั้งแต่ พ.ศ. 2559 เป็นต้นมา จากการสำรวจเชิงลึกได้ผลเป็นที่น่าหวาดเสียวกับแนวทางก้าวหน้าเพื่อปรึกษาผู้รู้นี้ด้วยเหมือนกัน เนื่องจากผู้คงแก่เรียนผู้ที่สังคมอาจคิดว่าคือ “กูรูควอนตัม” ผู้ที่ควรให้คำปรึกษาได้ แต่กลับกลายเป็นหัวเชื้อแพร่กระจายเรื่องราวควอนตัมเทียมเสียเองและมีมากมายอยู่ทั่วโลก ในเมืองไทยก็มีไม่น้อยเลยกับนักวิจัยจนถึงครูบาอาจารย์ ทั้งที่ “รู้เท่าไม่ถึงการณ์” “รู้แล้วก็ยังทำ” จนถึง “หลุดโลก” มีครบหมด ซึ่งการใช้คำควอนตัมสร้างความขลังกระทั่งสร้างงานที่ผิดเพี้ยนอันปรากฏข้ามมาที่วงการวิชาการนี้เองด้วยนั้น จึ่งเสมือนเจ้าพนักงานประพฤติผิดในหน้าที่วิชาการเสียเอง งานจินตนาการหรือนั่งเทียนควอนตัมทำนองนี้ปรากฏเด่นชัดและเสื่อมเสียมากแล้วกับกรณีที่กำเนิดไปจากเมืองไทย เพราะไปไกลระดับโลกจนกระทั่งนักวิจัยของกูเกิลและวารสารวิทยาศาสตร์เนเจอร์ (nature) อันโด่งดังได้ออกมาประจานทางอ้อมไปทั่ว

ดังนั้น กลุ่มผู้รู้เองก่อนจะไปช่วยเหลือให้ความรู้แก่ผู้ใดยังจำเป็นที่จะต้องผ่านกลไกการตรวจสอบกันเองอย่างเข้มข้นด้วย ระหว่างนั้นควรช่วยกันตามเก็บเช็ดล้างแก่สังคมวิชาการ นักศึกษา คนรุ่นใหม่ ฯลฯ ที่อาจได้รับผลกระทบจากนักวิจัยหัวเชื้อหรือพ่อพิมพ์ควอนตัมปลอมกรณีก่อนหน้าและที่ยังดำเนินอยู่ เพื่อร่วมช่วยบรรเทาผลกระทบไปพลางก่อน


เมื่อได้ผ่านเรื่องราวจากตัวหนังสือมาถึงบรรทัดนี้ รู้จักการสร้างความคุ้นเคยกับคำว่าควอนตัมทางอ้อม ๆ และปลูกฝีสร้างภุมิคุ้มกันวิทยาการลวงมาได้บ้างแล้ว ควรได้เวลากลับมาร่วมกันตอบคําถามที่วางพักไว้แล้วตั้งแต่บทนำว่า จะช่วยสนองความต้องการที่เกิดขึ้นมาเกินทศวรรษอันคัดกรองมาจากสองกลุ่มเป้าหมายหลักของประเทศคือ กลุ่มผู้ดูแลนโยบายองค์กรและวิทยาศาสตร์ของประเทศรวมถึงกลุ่มวัยรุ่นคนรุ่นใหม่ให้ได้ไหม ? แล้วจะตอบเขาว่าอย่างไร ? ทั้งจากผู้ใหญ่ในบ้านเมืองที่ปุจฉาว่าควอนตัมคืออะไรโดยให้เวลาอธิบายไม่เกินห้านาที หากเขาเหล่านั้นยังคงไม่เข้าใจอาจหมดโอกาสการทำงานวิจัยและพัฒนา กับกลุ่มวัยรุ่นที่ต้องการข้อความสั้นไปให้อ่านแต่ห้ามเกินแปดบรรทัด จะจัดอย่างไรต่อให้ เพราะทั้งหมดนี้จะยังคงเป็นความต้องการปกติที่เกิดขึ้นต่อ ๆ ไปในเมืองไทยอีกยาวนานแน่นอน ...

 

สำเนาจาก “เข้าใจ”ควอนตัมกันอย่างไร ?
ภาค ๑ - ความคุ้นเคย - ISBN : 978-616-572-644-3

สงวนลิขสิทธิ์ © พ.ศ. ๒๕๖๓ - copyright

(เพื่อการศึกษาสาธารณะเท่านั้น)

 

“เข้าใจ”ควอนตัมกันอย่างไร ? | (EP1-9)

 

๐ (คอลัมน์แนะนำ) ควอนตัมกับสิ่ง “มีชีวิต”vs“ไม่มีชีวิต” | Quantum Biology ๐

ชีววิทยาเชิงควอนตัม (Quantum Biology)

หมายถึงควอนตัมของ “ส่ิงมีชีวิต” แน่แท้หรือ ?


コメント


FEATURED POSTS

FOLLOW US

  • Facebook Long Shadow

 

DROP US A LINE 

Your details were sent successfully!

  • Facebook page
bottom of page