top of page
QICTechFACTcheckLoGoWhite-2021.jpg
รูปภาพนักเขียนK Sripimanwat

EP5/9 |“เข้าใจ”ควอนตัมกันอย่างไร ? | ศึกษาอดีตเพื่อเตรียมพร้อมอนาคต

“ประวัติศาสตร์ที่อาจมีข้อโต้แย้งหรือบ่ายเบี่ยงได้นั้น ต้องอยู่บนพื้นฐานจากหลักฐานการบันทึก มิใช่จากความเห็น”

ลอร์ด จอห์น เอ็มเมอริค เอ็ดเวิร์ด แอคทัล

(Lord John Emerich Edward Dalberg-Acton)

วิถีการเรียนรู้ของบทนี้จะใช้หลักการพื้นฐานเพื่อสร้างความคุ้นเคยทางอ้อมต่อสิ่งคลุมเครือในปัจจุบันที่กำลังพยายามหาทางทำความเข้าใจกันอยู่ โดยการนำไปเทียบเคียงกับประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องทำนองการแกะรอยความเข้าใจจากสิ่งที่เกิดคล้ายคลึงก่อนหน้าในอดีต ซึ่งเรื่องราวเก่า ๆ ที่สัมพันธ์กันนั้นอาจเคยเป็นสิ่งที่ยากมาก่อนแต่ในที่สุดสังคมมนุษย์สามารถทำความเข้าใจได้หมดแล้ว

เช่นกันกับเรื่องราวเทคโนโลยีเชิงควอนตัมที่ยังน่ามึนงง ณ ปัจจุบัน การย้อนไปศึกษาสภาพของสายพันธุ์เทคโนโลยีในอดีตอื่น ๆ ที่เกิดมาแล้ว หรือที่ออเจ้าคนรุ่นเก่าได้เคยจับต้องจริงแต่ผ่านกาลเวลาตกยุคไป อาจทำให้เกิดความเข้าใจทางอ้อมต่อเรื่องยากของปัจจุบันขณะที่กำลังอยากรู้อยู่ได้บ้าง เป็นการย้อนทิศประวัติศาสตร์ของเทคโนโลยีที่ครั้งหนึ่งก็เคยใหม่และยาก แต่สุดท้ายก็เข้าใจได้ตาสว่างกันแล้วโดยทั่วไป

ดังนั้น ได้เวลาทดลองนำวิถีทางลักษณะดังกล่าวมาปรับใช้ เริ่มด้วยเทคโนโลยีลึกล้ำที่พักค้างกันอยู่ควรนำมาพิจารณาต่อด้วยการวางลงบนแกนเวลาของเทคโนโลยีสารสนเทศหรือไอทีสามยุคสมัยเรียงกันดังนี้


(อดีต) (ปัจจุบัน) (อนาคต)


(-1) —————— (0) —————— (+1)

ตั้งต้นกัน ณ ตำแหน่ง“ปัจจุบัน”เป็นฐานที่มั่นการเรียนรู้สองทิศข้างต้น (ตำแหน่งบนแกนเวลาคือ “0”) เทียบเคียงได้ว่าผู้คนในยุคร่วมสมัยในสังคมก้มหน้าของสมาร์ทโฟน มีโทรศัพท์ติดมือตลอดเวลาไม่ว่าจะตื่นนอน เข้าห้องน้ำ เดินขึ้นบ้าน ไถลลงบันได บิดมอเตอร์ไซด์หรือขับรถ เดินจ่ายตลาด ในมือไม่เคยขาดโทรศัพท์ที่ต้องก้มเพ่งสายตาดูข้อความแชทหรือวีดีโอ เป็นสังคมที่ทั้งพัฒนาขึ้นรวมทั้งมีมุมที่เสื่อมถอยพลอยแทรกอยู่ไปพร้อมกัน

หากเมื่อได้ย้อนหลังกลับ (ทิศซ้าย “-1” ) ไปรำลึกภาพอดีตสมัยคุณปู่คุณย่ายังเป็นเด็ก เรื่องราวขณะนั้นทีวีหรือเครื่องรับโทรทัศน์ขาวดำเพิ่งเข้ามาใหม่มีใช้งาน รูปร่างหน้าตาเทอะทะอยู่ในกล่องไม้ขนาดใหญ่และหนา หน้าจอเป็นแก้วโค้งมน หน้าปัทม์ปุ่มเปลี่ยนช่องแบบบิดหมุน จะปรับเสียงเบาดังก็ยังไม่มีรีโมทต้องใช้อีกปุ่มหมุนขนาดใหญ่คล้ายกัน สมัยที่ท่านปรับตัวกับการมาถึงเทคโนโลยีชิ้นใหม่ของยุคโบราณเขาประสบกับความแปลกใจในรักแรกพบที่ออกอาการชะงักกับข่าวใหญ่ เช่น เมื่อเห็นยานอพอลโลพุ่งไปดวงจันทร์แล้วอดฉงนใจมิได้ว่าเจ้าสิ่งมหัศจรรย์จรวดยักษ์เข้าไปสิงอยู่ในกล่องไม้ใบเล็กมากนั้นอย่างไรกันเล่า ! ... ภาพข่าวจากหนังสือพิมพ์สีขาวดำพลันมาเป็นภาพเคลื่อนไหวในทีวี ความแปลกใจจึงเกิดอย่างมากมาย และอีกข่าวที่ อาภัสรา หงสกุล ไปประกวดนางงามจักรวาลได้ตำแหน่งมาเป็นคนแรกของเมืองไทย คนสวยคนงามระดับเอกภพไปถึงจักรวาลเคยเห็นเป็นภาพหมึกบนกระดาษหนังสือพิมพ์กลายไปสวมมงกุฏเดินอยู่ในกล่องสี่เหลี่ยมเดียวกันได้ด้วยกระนั้นหรือ ยังมีเรื่องเช่นนี้อีกมากที่ผู้คนสมัยก่อนงงงวยในครั้งแรกที่พบเห็น ลองสอบถามหาจากผู้หลักผู้ใหญ่วัยชรากัน

เมื่อครั้งวันที่คนรุ่นปู่ย่าตาทวดยืนดูทีวีอยู่หน้าร้านกาแฟหัวมุมถนนลูกรัง ตามบ้านผู้ใหญ่ เรือนกำนัน หรือที่ทำการอำเภอ เขาเหล่านั้นงุนงงมาก หากตัดภาพข้ามยุคกลับมาปัจจุบันทันทีแล้วมีใครมาพูดเรื่องนี้ให้ฟังจะเป็นอย่างไร ?

อาจได้คำเสียดสีว่าช่างเป็นคนรุ่นขุนหมื่นโบราณผ่านยุคตกสมัย ไม่เจ๋งเลย ไม่เก๋ ไม่โมเดิร์นเลย เนื่องด้วยสังคมได้ผ่านยุคนั้นมาแล้ว ทีวีขาวดำกล่องไม้ใหญ่หนาและหนักมากล้าสมัยไปนานแล้ว เด็กรุ่นหลังเกิดใหม่หาได้เคยเห็นไม่ โตมาทีวีที่เจอจอแบนเรียบบางเฉียบ คุ้นเคยกับหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์เคลื่อนที่และอีกสารพัดอุปกรณ์ไอทีมากกว่าแล้ว

จุดเปลี่ยนของเรื่องยุคเก่าเล่าใหม่นี้คือการเปรียบว่า คนในอดีตกว่าจะคุ้นเคยต้องใช้เวลาสักพักแล้วจึงเข้าใจเพราะครั้งแรกที่พบเห็นคือเรื่องใหม่และเรื่องใหญ่มากด้วยกับการเห็นจรวดและคนตัวเป็น ๆ ไปอยู่ในกล่องไม้สี่เหลี่ยมเล็กนั้นได้ แต่สำหรับคนยุคหลังมองย้อนไปที่เรื่องเดียวกันนั้น จะเห็นเป็นแค่ความเก่าเรื่องเล่าโบราณ

พิจารณาข้ามกาลเวลา

ในขณะเดียวกัน หากคนยุคปัจจุบันมองข้ามไปต่อข้างหน้ากันหน่อยว่า ยุคอนาคตมาประชิดแล้ว (ทิศขวา “+1") เครื่องแอนนิลลิงหรือเครื่องไล่เรียงหาคำตอบเชิงควอนตัม (quantum annealing) ของบริษัทดีเวฟประเทศแคนาดามาถึงนานแล้วเร็วกว่าคอมพิวเตอร์ทั่วไปบางโจทย์งานถึงกว่าร้อยล้านเท่า ที่บริการให้ใช้ฟรีก็มีผ่านมาหลายปีทั้งคอมพิวเตอร์ควอนตัมผ่านทางอินเทอร์เน็ต (คลาวด์) ของบริษัทไอบีเอ็ม ขณะที่บริษัทยักษ์ใหญ่ทั้งกูเกิลและอื่น ๆ ก็ตามมาด้วยอีกมาก เจ้าตลาดไอทีปัจจุบันกระโจนเข้าอุตสาหกรรมไอทีการคำนวณความเร็วสูงนี้อย่างเต็มเหนี่ยวแล้ว ผลวิจัยเอย ศูนย์วิจัยในหลายประเทศลงทุนไปแล้วนับแสนล้านเอย หากยังไม่มีโอกาสไปคุ้นเคยหรือยังไม่เข้าใจเจ้าเครื่องที่ว่านี้จะรู้สึกว่าเด๋อเป็นคนตลกตกยุคไหม เพียงรู้จริงแล้วเล่าให้ใครฟังต่อทำได้ไหม หรือมัวทำอะไรกันอยู่หรือถึงยังไม่เข้าใจอุปกรณ์ไอทีชิ้นใหม่นั้นเสียที เอาล่ะสิ !

เมื่อมองข้ามไปยุคอนาคตที่วิทยาการใหม่ใกล้มาถึงแต่ตนเองยังไม่เข้าใจ ดังนั้น ควรนึกเผื่อไว้อีกเลยว่ารุ่นลูกรุ่นหลานของคนยุคปัจจุบันที่เพิ่งเกิดมาหรือจะเกิดใหม่ในอนาคต เมื่อถึงเวลาที่เขาเหล่านั้นเติบใหญ่เป็นวัยรุ่นอาจได้มีคอมพิวเตอร์ควอนตัมใช้งานปกติทั่วไป มีระบบการสื่อสารเชิงควอนตัมปรากฏขึ้นกว้างขวางไปทั่ว อาจไม่ต้องการคำอธิบายมากนักว่าคืออะไร เกิดมามีโอกาสได้คุ้นเคยโดยพลัน ณ เวลานั้นหากกลุ่มคนในปัจจุบันที่ยังไม่เข้าใจและได้กลายเป็นปู่เป็นย่าไปแล้ว ลูกหลานอาจขึ้นเสียงว่าทำไมผู้เฒ่าของเขาไม่รู้เรื่องเอาเสียเลย การสื่อสารและคอมพิวเตอร์ควอนตัมง่ายมาก เหตุใดยังเล่นสมาร์ทโฟนเก่า ๆ ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์เทอะทะอยู่บนตักตั้งโต๊ะหรือที่ผูกข้อมือกันอยู่อีกหรือ ?

โอกาสคุ้นเคยเพียงปัจจุบันและอดีต

ทั้งหลายเหล่านี้เปรียบได้ว่า มนุษย์สามารถสร้างความคุ้นเคยต่อสิ่งต่าง ๆ จนนำไปสู่ความเข้าใจจนได้ แต่เจ้าเทคโนโลยีที่ให้โอกาสไปคุ้นได้นั้นมีอยู่กับเฉพาะยุคปัจจุบัน (0) และยุคอดีตที่ผ่านมาแล้ว (-1) เป็นหลัก และจะสามารถสัมผัสสร้างความคุ้นเคยสะสมได้ด้วยความรวดเร็วเฉพาะกับสิ่งที่แพร่หลายแล้ว หรือสิ่งที่ผู้คนส่วนใหญ่มีโอกาสได้ใช้งานและสามารถแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันได้ในสังคมทั่วไป ส่วนสิ่งที่มาใหม่ (+1) ในชีวิต เช่น คอมพิวเตอร์ควอนตัมและอีกสารพัดการประยุกต์ กว่าจะไปถึงจุดที่เข้าใจได้นั้นยังคงต้องใช้เวลาอีกนาน เพราะยังหาโอกาสใช้งานเองได้ยาก เครื่องมือที่มีอยู่ก็แพง ซับซ้อน ยังไม่ปรากฏในท้องตลาดดั่งเช่นวิทยุ ทีวี อุปกรณ์ไอทีหรือโทรศัพท์ที่หาซื้อและใช้งานได้ง่ายทั่วไป โอกาสที่จะไปสะสมความคุ้นเคยทางตรงด้วยจึงมีน้อยเหลือเกิน

และหากครั้นอยากจะถอยลงอุโมงค์ทวิภพย้อนไปสมัยปู่ย่ายังเด็กเพื่อรับรู้ด้วยตนเองว่าเหตุใดวัยเด็กของท่านผู้เฒ่าถึงตื่นเต้นกับเจ้ากล่องไม้เชย ๆ มีภาพขาวดำเคลื่อนที่ได้นั้นกันนัก ช่างน่าแปลกใจเหลือเกิน แม้มาถึงวันนี้ผู้ชราจำนวนมากนั้นก็ยังใช้สมาร์ทโฟนไม่ค่อยเป็น หากได้เล่นก็พร่ำส่งแต่รูปดอกไม้สวัสดีทุกเช้าวันไป ... ทำนองเดียวกันก็ควรเผื่อใจไว้ด้วยว่าลูกหลานของเราในอนาคตผู้คงได้คุ้นเคยกับเทคโนโลยีควอนตัมมากมายกันตั้งแต่เกิดแล้ว ถึงเวลานั้นเขาก็คงอยากย้อนเวลากลับมาถามคนรุ่นเราเช่นกันว่า เหตุใดถึงงงงวยกับสารพัดเครื่องควอนตัมรุ่นบุกเบิกเชย ๆ นั้นกันนัก แถมมีกรณีไปรับเอาข่าวสารควอนตัมผิดเพี้ยนมาแต่งแต้มสีสันความขลังส่งต่อหลอกกันเองตั้งแต่ชาวบ้านยันผู้ช่วยเสนาบดีอีกด้วย เป็นไปได้อย่างไร !

ณ วันนี้ ยุคไอทีควอนตัมที่น่าทึ่งเริ่มมาถึงแล้ว

เหตุการณ์ที่ดูเปิ่นเช่นเดียวกับอดีตกำลังกลับมาวนซ้ำเดิม ... อีกแล้ว !

 

สำเนาจาก “เข้าใจ”ควอนตัมกันอย่างไร ?
ภาค ๑ - ความคุ้นเคย - ISBN : 978-616-572-644-3

สงวนลิขสิทธิ์ © พ.ศ. ๒๕๖๓ - copyright

(เพื่อการศึกษาสาธารณะเท่านั้น)

 

“เข้าใจ”ควอนตัมกันอย่างไร ? | (EP1-9)

 

๐ (คอลัมน์แนะนำ) ควอนตัมกับสิ่ง “มีชีวิต”vs“ไม่มีชีวิต” | Quantum Biology ๐

ชีววิทยาเชิงควอนตัม (Quantum Biology)

หมายถึงควอนตัมของ “ส่ิงมีชีวิต” แน่แท้หรือ ?


Comments


FEATURED POSTS

FOLLOW US

  • Facebook Long Shadow

 

DROP US A LINE 

Your details were sent successfully!

  • Facebook page
bottom of page