อาชญากรรมวิชาการกับการสารภาพ | Confession at the Hearing | “นิสสัคคิยปาจิตตีย์” | ฉากทัศน์ 2023
จากคำทักเตือนต่อวงการไอทีควอนตัมกับการแก้ไขที่เบาบางและสายเกินไปตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมากรณีวิชาการควอนตัมนั่งเทียนไทย (fabrication) ได้เวียนสะสมความร้อนแรงมาถึงยุคแห่งอาชญากรรมวิชาการแบบโจ่งแจ้งกันแล้ว ณ พ.ศ. ๒๕๖๖ แสดงตนเด่นชัดกับการซื้อผลงาน (authorship) ที่กระทำสะดวกและสำเร็จผลได้ง่ายกว่า อย่างไรก็ตามกรรมที่สำแดงขึ้นมานั้นเป็นเพียงบางยอดของภูเขาน้ำแข็งที่โผล่เหนือพื้นน้ำ ยังคงพรางตนอยู่อีกมากและหลากหลาย สังคมนอกวงการวิชาการจึงพบเห็นได้เพียงส่วนน้อยผ่านมากับข่าวตามกระแส แม้เมืองไทยมีโอกาสเริ่มเรียนรู้ “อาชญากรรมทางวิชาการของเหล่าบัณฑิต” ได้บ้างแล้ว แต่จะช่วยแก้ไขสารพันเหตุฉ้อฉลที่ระบาดหนักอยู่นั้นอย่างไรกันต่อดี ?
๐ แนวทางอันทรงเกียรติ ๐
กรณีสารพันอาชญากรรมวิชาการอันทำร้ายวงการการศึกษาและวิจัยอย่างฝังลึกและยาวนานที่ถูกเปิดเผยปรากฏตัวมากขึ้นนั้น สังคมไทยยังคงรอการแสดงความรับผิดชอบและการแก้ไขจากทั้ง “ครู” “อาจารย์” “นักวิชาการ” หรือ “นักวิจัย” ทั้งระดับปฏิบัติการและผู้บริหารผู้ก่อเหตุเหล่านั้นอยู่อย่างใจจดใจจ่อ ทั้งนี้ มีหลายตัวอย่างที่ดีของการแสดงความรับผิดชอบอันควรศึกษานำมาปรับใช้ แนวทางสำคัญหนึ่งพบได้จากเรื่องจริงที่กลายมาเป็นหนังดังในอดีต Quiz Show (1994) -- “ควิสโชว์ ล้วงลึกเกมเขย่าประวัติศาสตร์” เบื้องหลังเกมแห่งชีวิตที่เคยเติมแต่งแสดงโชว์ทางทีวีเรื่องนี้ ควรค่าต่อการเป็นต้นแบบบรรเทาปัญหาอาชญากรรมวิชาการไทยที่กำลังประสบกันอยู่อย่างยิ่ง
ฉากเด่นที่น่าชื่นชมคือการแถลงของตัวละครเอกอดีตนักเขียนและอาจารย์มหาวิทยาลัยดัง 'โคลัมเบีย' ประเทศสหรัฐอเมริกา Charles Lincoln Van Doren (1926 – 2019) ผู้เข้าร่วมลวงโลกรายการแข่งขันตอบคำถาม 'Twenty-One' ของยุค 50's สมัยที่ทีวียังเป็นจอขาวดำขนาดใหญ่หนักและหนา ผู้ที่กล้าหาญกลับมาขึ้นเวทีและกำลังให้การ “สารภาพ (confession)” ต่อเหตุอื้อฉาวอันหนักหน่วงที่ตนร่วมก่อไว้ ก่อนจะเดินออกจากเส้นทางมืดดำที่เคยพยายามทำให้เป็นเวทีเกียรติยศของตนเองนั้นไป
การกระทำผิดจากโดยร่วมกันหลอกลวงสาธารณะชนที่จบด้วยการสารภาพเมื่อกว่าเจ็ดทศวรรษก่อนหน้า ผลที่ได้รับมีทั้งโทษและโอกาสการกลับตัวเพื่อพัฒนาตนเอง สังคมยังคงให้โอกาสผู้กระทำผิด กรณีศึกษานี้โด่งดังมากกระทั่งได้รับการสร้างเป็นภาพยนตร์ในอีกสามสิบปีต่อมา
๐ การคืนทรัพย์กับสารภาพ ๐
พื้นหลังของมนุษย์อันมี “รัก โลภ โกรธ หลง” ที่ไม่ต่างกัน การแสวงหาความสุขและประสบกับความทุกข์จึงมีอยู่ถ้วนทั่ว ผลจากการกระทำของทุกช่วงชีวิตจึงเป็นไปได้ทั้งสร้างกุศลดีหรือก่อกรรมใดไว้ กรณีพลาดพลั้งสร้างสิ่งมิควรหากจบด้วยการยอมรับและสารภาพ นอกจากจะได้รับความเห็นอกเห็นใจ ทางออกจากปัญหาของทุกฝ่ายอาจง่ายหรือสะดวกขึ้นตามไปด้วย โดยมีสังคมรอบข้างและคนรุ่นต่อไปได้รับอานิสงส์ เช่นกันกับแวดวงสังคมของนักวิชาการ เป็นวิถีที่ควรเอาเยี่ยงอย่างสำหรับวงการการศึกษาวิจัยและพัฒนาไทย สำหรับทั้งผู้ปฏิบัติรวมถึงผู้บริหารทุกระดับฯ ผู้ที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการใช้ทรัพยากรและโอกาสของส่วนรวมเพื่อประโยชน์ส่วนตน ทั้งที่ตั้งใจหรืออาจพลั้งเผลอกับทุกกรณี อาทิ
ก) คัดลอก (plagiarism) ข) นั่งเทียน (fabrication) ค) ปั้นแต่ง (falsification)
ง) ซื้อผลงาน (authorship) หรือ จ) รับรางวัลที่เคยมอบ (Conflict of Interest)
ซึ่งขั้นตอนการสารภาพผิดดังตัวอย่างกรณี “ควิสโชว์” นั้นคือจุดเปลี่ยนสูงสุดสะท้อนเหตุกรณีที่เกิดขึ้นแล้วปิดฉากลงโดยสมบูรณ์ พิจารณาลึก ๆ ชั่งละม้ายคล้ายกับสิ่งที่บัญญัติอยู่ในโลกแห่งธรรมอันคุ้นเคยมานานกับ ...
"นิสสัคคิยปาจิตตีย์" & สละวัตถุและแสดงอาบัติ
อันหมายถึงการมอบทรัพย์คืนตำแหน่งหรือรางวัลและผลประโยชน์อื่นใดที่ได้มาโดยมิชอบ ทั้งทางตรงและทางอ้อมที่อาจขัดกับจริยธรรม พร้อมด้วยกับการสารภาพปลงอาบัติ (สู่หมู่สงฆ์) ต่อสังคมที่ร่วมกิจอยู่ด้วยนั้น ซึ่งการปฏิบัติตามวิถีอันเป็นที่สุดดั่งโบราณยึดถือเยี่ยงนี้ จะส่งผลให้คนรุ่นหลังเดินทางต่อได้อย่างมีเกียรติและยั่งยืน หลุดพ้นจากการเป็นตัวอย่างที่จะถูกนำไปเลียนแบบหรือใช้อ้างเพื่อเลี่ยงบาลีหนีความผิด อีกทั้งไม่ค้างคาใจหลงเหลือสิ่งใดให้สังคมรุ่นหลังต้องตามแก้ไขอย่างไม่สิ้นสุด (ส่วนโทษทางแพ่งและอาญาร่วมสมัย จำต้องว่าไปตามกฏเกณฑ์ของแต่ละสังคมของยุคที่ก่อเหตุนั้น ๆ)
ดูก่อน ! บัณฑิตผู้พลาดพลั้งทั้งหลาย
ต้องการให้ชนรุ่นหลังกล่าวถึงนามและนามสกุล
ต่อลูกหลานญาติพี่น้องว่าอย่างไร ฤา
หากท่านยังคงมิได้ ...
“สละวัตถุที่ได้มาโดยมิควรและปลงอาบัตินั้นด้วยตนเองเสีย !”
Campaign: #ภูมิคุ้มกันวิชาการฉ้อฉล
“เรียนรู้ประวัติศาสตร์เพื่ออนาคตที่ผิดพลาดน้อยลง”
(ข้อมูลเพิ่มเติม)
๐ ส่วนหนึ่งการทักเตือนอาชญากรรมวิชาการไทยจากหนังสือ “ปัญญาอลวน” ๐
๐ “นิสสัคคิยปาจิตตีย์” ๐ คือประเภทของโทษที่เกิดจากการล่วงละเมิดสิกขาบทประเภทลหุกาบัติที่เรียกว่า อาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์ จัดเป็นอาบัติโทษเบา มีทั้งหมด 30 ประการ (ประการที่ 30 “น้อมลาภสงฆ์มาเพื่อให้เขาถวายตน”)
Comments