(Book review) | เจนกฤษณ์ คณาธารณา | “ปัญญาอลวน” | 30th Anniversary - Turbo Codes | คำนิยม 2023
ดร.เกียรติศักดิ์ ศรีพิมานวัฒน์ จากสมาคมสถาบันวิศวกรไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์แห่งประเทศไทย (IEEE Thailand Section) ผู้เขียนหนังสือ “ปัญญาอลวน”: เรื่องเล่าสารคดีสี่จดหมายเหตุ ส่งหนังสือเล่มนี้มาให้ผม พร้อมโน้ตสั้น ๆ ว่าเป็นเรื่องเล่าของสิ่งรอบตัวในวงการวิทย์ที่น่าจะสนุก ตั้งแต่ตุลาคม 2565 แต่กว่าผมจะได้อ่านจริง ๆ จนจบเล่ม ก็ล่วงเข้ามาปลายเดือนเมษายน 2566 แล้ว
เมื่ออ่านจนจบก็พบว่าหนังสือเล่มนี้ ให้ความรู้เกี่ยวกับพัฒนาการของเทคโนโลยีโทรคมนาคมในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาโดยมีเรื่องราวของรหัสเทอร์โบ (Turbo Codes) เป็นแกนสำคัญของเรื่อง โดยรหัสเทอร์โบนี้ เป็นรหัสช่องสัญญาณสื่อสารที่สามารถตรวจสอบและแก้ไขข้อผิดพลาดจากสัญญาณรบกวนได้ดี โดยอาศัยกระบวนการเข้าและถอดรหัส จึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่ถูกนำไปใช้งานในหลายรูปแบบ เช่น ระบบมือถือ 3G, 4G รวมไปถึงการสื่อสารผ่านดาวเทียม และการสื่อสารระหว่างยานสำรวจอวกาศกับโลก เป็นต้น ที่สำคัญรหัสเทอร์โบนี้มีนักวิจัยชาวไทย คือ รศ.ดร.ปัญญา ฐิติมัชฌิมา นักเทคโนโลยีดีเด่นประจำปี 2546 ผู้ล่วงลับไปแล้ว เป็นผู้ร่วมพัฒนาขึ้นด้วย เรื่องราวในหนังสือจึงถือเป็นการรำลึกถึงคุโณปการของ รศ.ดร.ปัญญา ฐิติมัชฌิมา ที่มีต่อพัฒนาการของเทคโนโลยีโทรคมนาคมของโลกไปด้วย
เรื่องราวของหนังสือเล่มนี้ มีการดำเนินเรื่องโดยมีฉากหลังเป็นสถานที่ทำงานของ รศ.ดร.ปัญญา ฐิติมัชฌิมา และสถานที่ทำงานของผู้เขียนหนังสือ ดังนั้นผมจึงได้รับทราบพัฒนาการของทั้งสองสถานที่ดังกล่าวรวมไปถึงเรื่องราวการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทยในมุมมองของผู้เขียนหนังสือไปด้วย ซึ่งอ่านไปก็ทำให้เกิดทั้งการอมยิ้มและขมวดคิ้วสลับกันไป ถือเป็นการเปิดช่องรับสัญญาณอีกช่องหนึ่งให้ผมด้วย แม้ว่าจะไม่มีรหัสเทอร์โบมากำกับก็ตาม
สุดท้ายนี้ ผมขอขอบคุณสมาคมสถาบันวิศวกรไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์แห่งประเทศไทย (IEEE Thailand Section) และดร.เกียรติศักดิ์ ศรีพิมานวัฒน์ ผู้เขียนหนังสือที่ส่งมาให้อ่าน และได้ให้เกียรติชวนให้ผมเขียนคำนิยมนี้ ซึ่งเป็นแรงกระตุ้นให้ผมได้อ่านจนจบเล่ม และทำให้ผมได้รับสาระความรู้ในเรื่องพัฒนาการของเทคโนโลยีโทรคมนาคม ควบคู่กับการได้รับความบันเทิงและมุมมองของผู้เขียนในลักษณะหยิกแกมหยอกในเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกี่ยวพันกับแวดวงการวิจัยพัฒนาวิทยาศาสตร์แลเทคโนโลยีของไทยครับ
เจนกฤษณ์ คณาธารณา
สวทช.
สารคดีสี่จดหมายเหตุ “ปัญญาอลวน”
๑) สามทศวรรษรหัสเทอร์โบนวัตกรรมพลิกโลกข่าวสาร (ค.ศ. 1993 - 2023)
๔) หลายช่วงลมหายใจที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (ยุคที่สอง)
"กิจกรรมสามทศวรรษรหัสเทอร์โบ (30th Anniversary - Turbo Codes)"
สาขาไฟฟ้าสื่อสาร (IEEE ComSoc Thailand) สมาคมสถาบันวิศวกรไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์แห่งประเทศไทย (IEEE Thailand Section) จัดทำเพื่อเฉลิมฉลองหนึ่งในนวัตกรรมสำคัญระดับโลกที่ได้รับรางวัลเกียรติยศมากมายบนเวทีสากลรวมทั้งรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่นไทยเนื่องในโอกาสครบรอบสามสิบปีของการคิดค้น “รหัสเทอร์โบ” ณ ปี พ.ศ. ๒๕๖๖ โดยเผยแพร่และประกาศเกียรติคุณให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางต่อทั้งวิทยาการ บุคคลสำคัญ และเชิดชู “ปัญญา ฐิติมัชฌิมา” คนไทยผู้มีส่วนร่วมคิดค้นและสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ รวมทั้งเผยแพร่เกร็ดประวัติศาสตร์วัฒนธรรมและความรู้ร่วมสมัยด้านโทรคมนาคม และของวงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทยในอดีตด้วย ทั้งนี้ หนึ่งในกิจกรรมหลักเพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าว สมาคมฯได้จัดพิมพ์เรื่องราวดังกล่าวออกเป็นหนังสือ โดยสร้างสรรค์ในรูปแบบเรื่องเล่าสารคดีประกอบภาพในชื่อเรื่อง “ปัญญาอลวน” จัดทำทั้งแบบรูปเล่ม (hardcopy) พร้อมด้วยสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (eBook) สำหรับบุคคลทั่วไปเป็นกลุ่มเป้าหมาย เพื่อสร้างผลกระทบในวงกว้างเป็นวิทยาทาน และเพื่อใช้ผลผลิตในการสร้างเครือข่ายส่งเสริมให้เป็นกรณีศึกษาเพื่อต่อยอดเรียนรู้สู่แรงบันดาลใจให้กับบุคลากรคนรุ่นใหม่ รวมทั้งสร้างมูลค่าจากประเด็นเชิงวัฒนธรรมรวมทั้งเกร็ดประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องต่อไป (เช่นเดียวกับที่สมาคมฯ ได้เคยจัดทำผลผลิตอื่นไปแล้วรวม ๑๗ โครงการกว่า ๑๘,๐๐๐ เล่ม สื่อดิจิทัลซีดีกว่า ๖,๐๐๐ ชุด โปสเตอร์และโปสการ์ดความรู้รวม ๔,๐๐๐ แผ่น แด่กลุ่มเป้าหมายทั่วประเทศเป็นวิทยาทานแล้ว ข้อมูล ณ www.quantum-thai.org/10th-ttkm-anniversary & www.quantum-thai.org/q-books & web.facebook.com/TurboCodes20th)
ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดทำหนังสือ “ปัญญาอลวน” ได้ที่
email: thailand_chapter@comsoc.org
IEEE ComSoc Thailand - สาขาไฟฟ้าสื่อสาร
สมาคมสถาบันวิศวกรไฟฟ้าและอีเลคโทรนิคแห่งประเทศไทย
53 ถนนจรัญสนิทวงศ์ บางกรวย นนทบุรี 11130
(หนังสือ “ปัญญาอลวน” ๒๕๖๕ ฉบับอิเล็กทรอนิกส์สาธารณะ: free eBook)
คำนิยม
| อุษารัตน์ บุนนาค | อลิสา คงทน |
Comments